แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่เกิดเหตุเป็นเกาะมีถ้ำที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเขตห้ามตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 บริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัด ผู้เสียหายเป็นผู้ได้รับสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นบนเกาะดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในขณะเกิดเหตุนั้น มาตรา 5 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ อันสามารถอาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นหรืออาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละที่อาศัยไปจากเกาะที่ทำรังอยู่ตามธรรมชาติหรือกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น บรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ มาตรา 7 บัญญัติว่า ผู้ใดจะเก็บรังนกอีแอ่นบรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ ต้องได้รับอนุญาตและเสียเงินอากรตามวิธีการซึ่งจะได้กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 9 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นอันตนรู้ว่าได้มาโดยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้ จึงเห็นได้ว่าการกระทำผิดฐานกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นต้องมีเจตนาในการกระทำต่อรังนกอีแอ่นในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รังนกที่มีอยู่ตามธรรมชาติเป็นกรณีที่อาศัยเจตนาอย่างหนึ่ง ส่วนการมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นนั้น เป็นการกระทำที่ต้องอาศัยเจตนาในการยึดถือเพื่อตนซึ่งรังนกอีแอ่น การกระทำผิด ทั้งสองฐานดังกล่าวอยู่ในมาตราเดียวกันก็เป็นเพียงการบัญญัติลักษณะของการกระทำผิดต่าง ๆ มากำหนดโทษไว้ในที่แห่งเดียวเพราะมีอัตราโทษเท่ากันเท่านั้น แม้จำเลยกระทำผิดทั้งสองฐานในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน การกระทำผิดของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
อาวุธปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. ซึ่งเป็นอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียน จำนวน 1 กระบอก ซองบรรจุกระสุน 1 อัน กระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 2 นัด ซองพก 1 ซอง และปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม. 1 ปลอก ของกลางที่ ย. ใช้ยิงต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจเป็นของ ย. แต่ ย. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงตายในที่เกิดเหตุ สิทธินำคดีอาญา มาฟ้อง ย. ย่อมระงับไป ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) และโทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 38 ศาลจึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา ๓๓, ๘๓, ๙๑, ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ พ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๙, ๑๐, ๑๒ พ.ร.ฎ. กำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๓ คืนรังนกของกลางแก่เจ้าของ ริบของกลางอื่น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๑) (๗) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง), ๓๓๖ ทวิ พ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง, ๖, ๗, ๙, ๑๐, ๑๒ พ.ร.ฎ. กำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๓ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ ฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๖ ปี ฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๑ ปี ฐานขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๙๐ บาท รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๗ ปี ปรับคนละ ๙๐ บาท จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๔ ปี ๘ เดือน และปรับคนละ ๖๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง คืนรังนกของกลางแก่เจ้าของ ริบของกลางอื่น ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นจำคุกคนละ ๑ ปี รวมกับโทษฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุกคนละ ๒ ปี จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๑ ปี ๔ เดือน ไม่คืนรังนกอีแอ่นของกลางแก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องความผิดฐานลักทรัพย์และฐานเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่า การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้เหล็กแหลมแทงรังนกอีแอ่นอันเป็นการทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นและมีรังนกอีแอ่นของกลางดังกล่าวไว้ในครอบครอง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในขณะเกิดเหตุนั้น มาตรา ๕ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ อันสามารถอาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นหรืออาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละที่อาศัยไปจากเกาะที่ทำรังอยู่ตามธรรมชาติ หรือกระทำ ความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น บรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ มาตรา ๗ บัญญัติว่า ผู้ใดจะเก็บรังนกอีแอ่นบรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ ต้องได้รับอนุญาตและเสียเงินอากรตามวิธีการซึ่งจะได้กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา ๙ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่น อันตนรู้ว่าได้มาโดยกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ จะเห็นได้ว่าการกระทำผิดฐานกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น ต้องมีเจตนาในการกระทำต่อรังนกอีแอ่นในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รังนกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นกรณีที่อาศัยเจตนาอย่างหนึ่ง ส่วนการมีไว้ใน ครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นนั้น เป็นการกระทำที่ต้องอาศัยเจตนาในการยึดถือเพื่อตนซึ่งรังนกอีแอ่น การกระทำผิดในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ ถึงแม้บทลงโทษในความผิดดังกล่าวอยู่ในมาตราเดียวกันก็ตาม ก็เป็นเพียงการบัญญัติลักษณะของการกระทำผิดต่าง ๆ มากำหนดโทษไว้ในที่แห่งเดียวเพราะมีอัตราโทษเท่ากันนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษ ผู้กระทำผิดในแต่ละกรณีเป็นรายกระทงไป แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำผิดทั้งสองฐานในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน การกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาให้เรียงกระทง ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ริบอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด ๙ มม. จำนวน ๑ กระบอก ซองบรรจุกระสุน ๑ อัน กระสุนปืนขนาด ๙ มม. จำนวน ๒ นัด ซองพก ๑ ซอง และปลอกกระสุนปืนขนาด ๙ มม. ๑ ปลอก ของกลาง ที่นายยงยุทธ ชูแก้ว ใช้ยิงต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจนั้น เมื่อปรากฏว่าของกลางดังกล่าวเป็นของ นายยงยุทธ แต่นายยงยุทธถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงตายในที่เกิดเหตุ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องนายยงยุทธย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๑) และโทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๘ จึงไม่อาจ ริบของกลางดังกล่าวได้ และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด ๙ มม. จำนวน ๑ กระบอก ซองบรรจุกระสุนปืน ๑ อัน กระสุนปืนขนาด ๙ มม. จำนวน ๒ นัด ซองพก ๑ ซอง และปลอกกระสุนปืนขนาด ๙ มม. ๑ ปลอก ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙.