คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำบรรยายฟ้องที่ถือว่าไม่เคลือบคลุมและฟ้องไม่ขาดอายุความ
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่งข้าวไปจำหน่ายเพื่อบรรเทาความขาดแคลนของราษฎร และมอบให้กระทรวงเศรษฐการกับกระทรวงมหาดไทยดำเนินการ กระทรวงเศรษฐการจัดส่งข้าวไปที่คลังข้าวจังหวัดชุมพร แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดระนองเป็นผู้ไปรับข้าวจากคลังจังหวัดชุมพร ไปยังจังหวัดระนองและจัดการจำหน่ายแก่ประชาชน ในการขนข้าวจากชุมพรไปยังระนองนั้น กระทรวงมหาดไทยจ้างให้ผู้อื่นเป็นผู้ขน แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดระนองก็มอบให้จ่าจังหวัดระนองเป็นผู้รับข้าวและจำหน่ายข้าว เงินที่จำหน่ายข้าวได้จะต้องส่งไปใช้ค่าข้าวแก่กระทรวงเศรษฐการ และใช้ค่าจ้างขนส่งข้าวแก่กระทรวงมหาดไทย การดำเนินการของกระทรวงทั้งสองนี้เป็นการปฏิบัติราชการตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องดำเนินการในทางปกครอง มิใช่เรื่องประกอบการค้าขาย เมื่อกระทรวงทั้งสองเป็นโจทก์ฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดกัาบจ่าจังหวัดเรียกเงินที่ค้างชำระ จำเลยจะต่อสู้ว่าการค้าข้าวที่กระทรวงทั้งสองทำไปเป็นการนอกเหนืออำนาจหน้าที่เพราะโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์จะทำการค้า จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ทางราชการที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่
การที่กระทรวงทั้งสองนั้นเป็นโจทก์ฟ้องคดีรวมกันมา โดยกระทรวงเศรษฐการเรียกร้องให้ร่วมกันใช้เงินค่าข้าว และกระทรวงมหาดไทยเรียกร้องให้ใช้ค่าขนข้าว เมื่อศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จการ พิจารณาพิพากษาแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จะถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย และไม่มีเหตุควรยกฟ้องหรือให้โจทก์ไปฟ้องร้องใหม่ และเมื่อมูลกรณีเกิดในเขตศาลจังหวัดระนอง มูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งอยกจากกันได้ และจำเลยบางคนมีภูมิลำเนาในเขตศาลนี้ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยทั้งหมดต่อศาลนี้ได้ รวมทั้งจำลยที่ไม่มีภูมิลำเนาในเขตศาลนี้ด้วย
กระทรวงเศรษฐการส่งข้าวมาให้เจ้าหน้าที่จังหวัดระนองเป็นผู้จัดจำหน่ายเพื่อบรรเทาความขาดแคลนของราษฎร ไม่ใช่เป็นเรื่องจังหวัดระนองซื้อข้าวมาจำหน่าย ข้าวสารที่ส่งมาจำหน่ายและเงินที่จำหน่ายได้จึงเป็นของกระทรวงเศรษฐการ กระทรวงเศรษฐการมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าข้าวได้
จ่าจังหวัดได้รับมอบให้เป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายข้าว และรู้ระเบียบดีแล้วว่าจะต้องรีบเก็บเงินที่ขายข้าวได้ส่งไปให้กระทรวงเศรษฐการ เงินนี้มิใช่เงินในงบประมาณของจังหวัด ไม่มีเหตุที่จะเข้าใจผิดว่าทางจังหวัดจะเอาเงินนี้ไปใช้ในราชการของจังหวัดได้โดยชอบ ถ้านำเงินนี้จ่ายไปในราชการของจังหวัด แม้จะจ่ายไปตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ตนก็ไม่พ้นความรับผิด เพราะมิใช่คำสั่งตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติงานในหน้าที่โดยอาการที่เสี่ยงต่อความรับผิดชอบในเขตจังหวัดที่ตนมอบหมายเอง เมื่อจ่าจังหวัดทำละเมิดก็ไม่พ้นความรับผิด
ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการรับจะจำหน่ายข้าว ตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการนี้ขอมอบหมายให้จ่ายจังหวัดทำหน้าที่นี้ ก็ย่อมเป็นการมอบหมายการงานในหน้าที่ของตนให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาดำเนินการ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดละเลยไม่ควบคุมจนเป็นเหตุให้จ่าจังหวัดกระทำมิชอบ กระทรวงเศรษฐการและกระทรวงมหาดไทยเสียหาย ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องรับผิดในความเสียหายด้วย จะอ้างว่าจ่าจังหวัดมิใช่ลูกจ้างของตนและไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติต่อตัวการต่อตัวแทนหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการเป็นจ่าจังหวัดระนองตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๖ ออกเมื่อ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๘ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดระนองต่อจากนายแสวง ทิมทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดคนเก่าตั้งแต่๑๐ มิถุนายน ๒๔๙๒ ถึง ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ จำเลยที่ ๓ เป็นปลัดจังหวัดระนอง รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ถึง ๑๑ มกราคม ๒๔๙๗ จึงมอบงานแก่จำเลยที่ ๔ ซึ่งมาเป็นผู้ว่าราชการฯ จนถึง ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๒ ถึง ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ กระทรวงพาณิชย์ซึ่งภายหลังโอนอำนาจหน้าที่มาเป็นของโจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๑ ได้ส่งข้าวมาจำหน่ายเพื่อบรรเทาความขาดแคลนแก่ประชาชนในจังหวัดระนองโดยให้นายแสวง ทิมทอง และจำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ในขณะดำรงตำแหน่งและรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดระนองเป็นผู้รับมาจำหน่าย และจะต้องชำระค่าข้าวรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งคิดถึงคลังข้าวจังหวัดชุมพร ให้แก่โจทก์ที่ ๑ เมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๔๙๒ โจทก์ที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้แทนได้ว่าจ้างนายตุลา ขนข้าวจากคลังข้าวจังหวัดชุมพรมายังจังหวัดระนอง ค่าขนนี้ให้คิดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราคาข้าวที่จำหน่ย ชั้นแรกนายแสวง ทิมทอง และจำเลยที่ ๒
ได้มอบให้ร้านค้าของจังหวัดดำเนินการจำหน่ายข้าวที่รับมา โดยมีสรรพากรจังหวัดเป็นผู้ดำเนินงาน ต่อมา วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๙๒ จำเลยที่ ๒ สั่งให้มอบงานจำหน่ายข้าวของโจทก์ที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายข้าวแต่ลำพัง นับแต่นั้นมา จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ต่างมอบให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการจำหน่ายและรับเงินที่จำหน่ายได้ แล้วทยอยส่งไปชำระค่าข้าวรวมทั้งค่าขนส่งถึงคลังข้าวจังหวัดชุมพร ให้แก่โจทก์ที่ ๑ โดยมิได้ชำระเป็นงวด ๆ ข้าของโจทก์ที่ ๑ ที่จำเลยรับมาจำหน่ายเป็นเงิน ๑๒,๗๖๖,๑๓๐.๙๖ บาท จำเลยจำหน่ายหมดแล้ว แต่ชำระเงินไม่ครบ ค้างอยู่ ๑๔๗,๔๕๑.๑๖ บาท เนื่องจากจำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ต่างประมาทเลินเล่อมิได้ดูแลการจำหน่ายข้าวและเก็บรักษาเงินที่จำหน่ายได้ จำเลยที่ ๑ จึงได้ทำละเมิดเอาเงินที่จำหน่ายข้าวได้เป็นเงิน ๑๙๗,๐๖๕.๑๖ บาท ไปใช้เป็นประโยชน์ตน ซึ่งเป็นเงินที่จะต้องชำระให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑๔๗,๔๕๑.๑๖ บาท ค่าขนข้าวจากคลังข้าวชุมพรถึงระนองซึ่งค้างอยู่ ๔๙,๖๑๔ บาท และโจทก์ที่ ๒ ได้ชำระไปแล้ว ขอให้จำเลยทั้ง ๔ ร่วมกันใช้เงิน ๑๔๗,๔๕๑.๑๖ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๑, ๓, ๔ ร่วมกันใช้เงิน ๔๙,๖๑๔ บาท
แก่โจทก์ที่ ๒
จำเลยทั้ง ๔ ให้การปฏิเสธความรับผิด ต่อสู้ทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ศาลจังหวัดระนองพิพากษาให้จำเลยที่ ๑, ๒ ร่วมกันใช้ค่าข้าวแก่โจทก์ที่ ๑ เงิน ๙๘,๑๓๙.๓๔ บาท จำเลยที่ ๑, ๓ ร่วมกันใช้ค่าข้าวแก่โจทก์ที่ ๑ เงิน ๑๖,๓๕๖.๕๖ บาท จำเลยที่ ๑, ๔ ร่วมกันใช้ค่าข้าวให้โจทก์ที่ ๑ เงิน ๒๔,๑๔๑.๐๕ บาท ให้จำเลยที่ ๑, ๓ ร่วมกันใช้ค่าจ้างขนข้าวให้โจทก์ที่ ๒ เงิน ๒๕,๔๕๑.๙๘ บาท จำเลยที่ ๑, ๔ ร่วมกันใช้ค่าจ้างขนข้าวให้โจทก์ที่ ๒ เงิน ๒๔,๑๖๓.๐๒ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี
จำเลยที่ ๑, ๓, ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ ๑ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙๙,๖๒๗.๔๑ บาท ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑, ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า
๑. ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๒ จะฟ้องคดีรวมกันไม่ได้ (เพราะผลประโยชน์ไม่ใช่ร่วมกัน มูลความแห่คดีก็เป็นคนละเรื่อง) นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นการพิจารณาและพิพากษาคดีแล้วไม่มีเหตุที่จะถือว่าการดำเนินกระบวนพิจารณามานั้นเป็นการผิดกฎหมายและไม่มีเหตุอันสมควรจะยกฟ้องโจทก์ หรือให้โจทก์ไปฟ้องร้องว่ากล่าวใหม่ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
๒. ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ตามฟ้องว่า ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๙๒ หน้าที่จำหน่ายข้าวตกมาอยู่ที่จำเลยที่ ๑ การชำระราคาข้าวมิได้ส่งไปชำระให้โจทก์ที่ ๑ เป็นงวด ๆ ให้ตรงตามจำนวนข้าวที่โจทก์ที่ ๑ ส่งมา แต่ได้ทยอยส่งมาเรื่อย ๆ เป็นการผิดระเบียบและข้อตกลง จึงเกิดเป็นการผิดนัดชำระหนี้สืบมาจนถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ ในช่วงระยะเวลานี้ต้องเข้าใจว่ามูลละเมิดเกิดแล้ว โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๙๙ ฟ้องจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ทางพิจารณาได้ความ่าในทางปฏิบัติได้มีการผอ่นผันให้นำเงินราคาข้างชำระแก่โจทก์ที่ ๑ เมื่อจังหวัดขาวข้าวได้เงินมาแล้วจึงได้มีการทะยอยส่งเงินและคิดหักกับราคาที่ส่งไปแล้ว จึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อรับข้าวไปแต่ละงวด และไม่อาจรู้ว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ส่งเงินสำหรับงวดไหนเป็นเงินเท่าใด แม้เมื่อส่งข้าวงวดสุดท้ายแล้วก็ยังไม่อาจถือว่าผิดนัดตั้งแต่นันหรือตั้งแต่เมื่อใด เพราะยังไม่อาจรู้ว่าเก็บเงินค่าขายข้าวได้เมื่อใด จึงยังไม่อาจรู้ว่าจะเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใด ไม่อาจเริ่มนับอายุความตามนัยฎีกาของจำเลยที่ ๑ ได้
๓. ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า เงินที่จำเลยที่ ๑ จ่ายไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือ เงินที่ทดรองซื้อรถยนต์ไว้ใช้ในราชการ ๑ คัน กับจ่ายให้บุคคลบางคนยืมไป ๓ ราย จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิด นั้น จำเลยที่ ๑ ก็ยอมรับว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการจำหน่ายข้าวของโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับมอบให้เป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายและรู้ระเบียบดีแล้วว่าจะต้องรีบเก็บเงินค่าขายข้าวได้ส่งไปให้โจทก์ที่ ๑ เงินนี้มิใช่เงินในงบประมาณของจังหวัด ไม่มีเหตุให้เข้าใจผิดไปว่าทางจังหวัดจะเอาเงินนี้ไปใช้ในราชการของจังหวัดได้โดยชอบ แม้จะจ่ายไปตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ไม่ใช่ทำตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จะอ้างมาแก้ตัวให้พ้นความรับผิดไม่ได้
๔. ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า การขายข้าวรายนี้เป็นการที่จังหวัดระนองซื้อเชื่อข้าวจากโจทก์ที่ ๑ มาขายแล้วส่งเงินให้เมื่อขายแล้ว จังหวัดระนองจึงเป็นเจ้าของเงิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกัน แสดงว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้จัด่สงข้าวมาให้เจ้าหน้าที่จังหวัดระนองเป็นผู้จัดจำหน่ายเพื่อบรรเทาความขาดแคลนของราษฎรของจังหวัดนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องจังหวัดระนองซื้อข้าวมาจำหน่าย ข้าวที่ส่งมาจำหน่ายและเงินที่จำหน่ายข้าวได้คงเป็นของโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ จึงมีอำนาจฟ้อง
๕. ได้ความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตั้งกรรมการตรวจรับข้าวของจังหวัดระนอง แต่ทางปฏิบัติปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ไปรับข้าวแต่ผู้เดียวโดยกรรมการอื่นไม่ได้ไปตรวจรับ จึงเป็นช่องทางให้จำเลยที่ ๑ ปิดบังไม่ลงบัญชีรับข้าวของจังหวัดระนองโดยกรรมการอื่นของจังหวัดไม่รู้ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นมาช้านานแล้ว เห็นว่า การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปล่อยให้จำเลยที่ ๑ ไปรับข้าวแต่ผู้เดียว แล้วจำเลยที่ ๑ ไม่ลงบัญชีรับข้าวของจังหยัด (จำนวน ๑๗๗ กระสอบในสมัยที่จำเลยที่ ๔ เป็นผู้ว่าราชการฯ) เลยไม่มีการชำระเงินค่าข้าวนั้น เป็นการปฏิบัติที่เสี่ยงต่อความรับผิดชอบในคนที่ตนมอบหมายเอง จำเลยที่ ๔ จึงไม่พ้นความรับผิด
๖. ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ผู้ทำละเมิดมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ โจทก์จะขอให้รับผิดร่วมกันไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้เป็นไปเช่นโจทก์ขอ ทั้งไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติของตัวการต่อตัวแทนซึ่งจะต้องรับผิดชอบแทนกัน นั้น เห็นว่า ตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งข้าวไปบรรเทาความขาดแคลนของราษฎรนั้น พึงเห็นได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการรับและจำหน่ายข้าว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ผู้อยู่ในบังคับบัญชาของตนทำหน้าที่รับและจำหน่ายข้าว ก็ย่อมเป็นการมอบหมายการงานในหน้าที่ของตนเองให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาดำเนินการและย่อมมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา จำเลยที่ ๔ ละเลยไม่ควบคุมจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ กระทำการมิชอบ เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ ๔ ก็ต้องรับผิดในความเสียหายด้วย
๗. ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่าฟ้องเคลือบคลุมเพราะไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยทำผิดระเบียบแบบแผนเรื่องอะไร ลงวันเดือนปีใด ข้อใดผิดกฎหมายอะไรเป็นมูลละเมิด ไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยที่ ๔ จะต้องรับผิดชอบในขณะที่จำเลยที่ ๔ กระทำละเมิดตอนใด ขาดรายการว่าจำเลยที่ ๔ จะต้องรับผิดชอบเท่าใด มีข้าวส่งไปในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๔ เท่าใด คำฟ้องระบุว่ากระทรวงซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นโจทก์ แต่มิได้บรรยายว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลอย่างไร มีวัตถุประสงค์อย่างใด นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องให้เข้าใจได้แล้วถึงหน้าที่และความประมาทเลินเล่อของจำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แสดงรายละเอียดให้จำเลยที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าใจได้เพียงพอแล้ว ไม่จำต้องกล่าวถึงรายละเอียดแห่งระเบียบดังที่จำเลยอ้าง และคดีแพ่งไม่จำต้องอ้างบทกฎหมาย และฟ้องก็อ้างจำนวนที่ให้จำเลยที่ ๔ รับผิดแล้ว ตามฟ้องก็ได้ขอให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในเงินทั้งหมด เพราะถือว่าแม้เป็นเงินที่ค้างมาก่อน ก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๔ ที่จะต้องควบคุมดูแลให้จำเลยที่ ๑ จัดส่งเงินให้โจทก์ อนึ่ง ตามรูปคดีก็เป็นเรื่องปฏิบัติพัวพันกันตลอดมา
ยากที่จะแยกให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าราชการฯ คนใดรับผิดเฉพาะจำนวนใด ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่เคลือบคลุม ส่วนที่ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลอย่างไร มีวัตถุประสงค์อย่างใดนั้น เห็นว่าไม่ใช่เรื่องข้อหา ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้อง
๘. ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า การค้าข้าวที่โจทก์ที่ ๑, ๒ ทำไปเป็นการนอกเหนืออำนาจและหน้าที่ เพราะโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์จะทำการค้า จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ทางราชการที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมมิให้จัดส่งข้าวไปจำหน่ายเพื่อบรรเทาความขาดแคลนของราษฎร และมอบหมายให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการ การดำเนินการของโจทก์ทั้งสองเป็นการปฏิบัติราชการตามมติของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเรื่องประกอบการค้า แต่เป็นเรื่องดำเนินการในทางปกครอง จึงมิใช่เป็นเรื่องนอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ และการที่โจทก์มอบหมายหน้าที่การงานแก่จำเลยก็เป็นการมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติในทางราชการ ข้อฎีกานี้จึงตกไป
๙. ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัว แต่มิได้ฟ้องจำเลยที่ ๔ ยังภูมิลำเนาของจำเลย ศาลจังหวัดระนองไม่มีอำนาจพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ ๔ นั้น เห็นว่า มูลกรณีเรื่องนี้เกิดในเขตศาลจังหวัดระนอง มูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ และจำเลยอื่นที่ถูกฟ้องร่วมด้วยมีภูมิลำเนาในเขตศาลจังหวัดระนอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕ ให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลที่จำเลยคนใดมีภูมิลำเนาอยู่ก็ได้
พิพากษายืน

Share