แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เรือนที่สร้างขึ้นในลักษณะที่มิได้มีสภาพเป็นที่อยู่อาศัยอย่างธรรมดา และมีเหตุแสดงว่าเป็นเรือนที่บุคคลธรรมดาไม่ทำขึ้นสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยถาวร หากแต่ทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงให้เห็นว่าเป็นเรือนสำหรับอยู่อาศัย ย่อมไม่นับว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างตามความหมายในพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไม้สักท่อนยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือตรารัฐบาลขายประทับไว้ในครอบครอง ๑๕ ท่อน เนื้อไม้ ๗.๕๖ ลูกบาศก์เมตร และมีไม้สักที่แปรรูปแล้ว ๒๘ ท่อน กับ ๑๒๒๘ แผ่น เนื้อไม้ ๔๒.๙๑๐ ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๖๙, ๗๓, ๗๔ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๖, ๑๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๒, ๑๗ และริบของกลาง
จำเลยให้การว่า ไม้ของกลางไม่ใช่ไม้แปรรูป เป็นไม้ซึ่งจำเลยได้ปลูกเป็นเรือนมาหลายปีแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกจำเลย ๑ ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาเป็นใจความว่า ไม้ของกล่าวได้ปลูกสร้างเป็นเรือนมาหลายปีแล้ว มีสภาพเป็นเรือนที่สมบูรณ์ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างตามที่กล่าวยกเว้นไว้ในบทบัญญํติความหมายของคำว่า “ไม้แปรรูป” จึงมิใช่ไม้แปรรูป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ไม้ของกลางซึ่งจำเลยประกอบเป็นเรือนนั้น จำเลยเพิ่งปลูกสร้างเสร็จใหม่ ๆ ลักษณะของเรือนตามที่ฟังกันมามีข้อสำคัญ ๆ คือ ๑. รูปเรือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ๒. เรือน กว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยาว ๑๒.๘๐ เมตร ใช้เสา ๒๘ ต้น ครัวขวางติดเรือนใหญ่ ใช้เสา ๑๒ ต้น เสาบางอย่างยังไม่กลบดินและมีเปลือกไม้ติดอยู่ ๓. พื้น ฝา ตง รอด เครื่องบน ไม่ได้ไสกบทั้งสิ้น ๔. ไม่มีประตูหน้าต่าง หรือช่องสำหรับใส่ประตูหน้าต่างเลย ๕. หลังคามุงด้วยใบตองตึง ๖. การปูพื้น ตีฝา และประกอบเป็นตัวเรือนผิดธรรมดาบ้านของปกติชน ที่ที่ควรจะตีปะตูก็ไม่ตี ใช้พุกประกับไว้ นอกจากนั้น จำเลยยังคงอาศัยอยู่กินกับบิดามารดาและมีชื่อในทะเบียนบ้านของบิดา เห็นว่าจำเลยสร้างเรือนขึ้นมิได้มีสภาพเป็นที่อยู่อาศัยธรรมดา โย้บิดเบี้ยวเป็นรูปขนมเปียกปูน ใช้เสามากมายผิดปกติ แสดงว่าเป็นเรือนที่บุคคลธรรมดาไม่ทำสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยถาวร รูปคดีฟังได้ว่าจำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงให้เห็นว่าเป็นเรือนสำหรับอยู่อาศัย จึงนับว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ ไม่ได้
ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน