แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยเป็นผู้ขับรถที่เสพเมทแอมเฟตามีนมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539) และฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) ออกมาใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมีผลทำให้ เมทแอมเฟตามีนมิได้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไปและเปลี่ยนมาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การกระทำ ของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลย่อมไม่อาจพิพากษา ว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวและไม่อาจมีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยตาม มาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งได้ กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับยกเลิกความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,153 วรรคหนึ่งเนื่องจากความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังคงมีอยู่มิได้ถูกยกเลิกไป กล่าวคือ ผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับเข้าร่างกายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มแอมเฟตามีนอื่นนอกจากเมทแอมเฟตามีน หรือวัตถุออกฤทธิ์อย่างอื่นที่อธิบดีกำหนด ยังคงต้องมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนการเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถก็ยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายเพียงแต่การกระทำของจำเลย ตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57,91 ซึ่งมีระวางโทษ สูงกว่าเท่านั้นและการเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถยังคงเป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3ทวิ) อีกด้วย ประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวจึงมิได้มีผลทำให้ การเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถไม่เป็นความผิดแต่ประการใด การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้โดยง่ายถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ดังนั้นเพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบและมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น อันจะเป็นการปกป้องประชาชนทั่วไปจากภัยอันตรายบนท้องถนน ที่มักเกิดขึ้นจากผู้ขับรถที่มีอากรมึนเมาเมทแอมเฟตามีน จึงสมควร ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 102(3ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี คุมความประพฤติจำเลยภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกประเภท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติจำเลย ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่ง และยกคำขอให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าแม้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) และฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) มีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนมิใช่วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2และเปลี่ยนไปเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก็ตาม แต่เมทแอมเฟตามีนยังคงเป็นกลุ่มแอมเฟตามีนอย่างหนึ่งผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับเข้าร่างกายยังต้องมีความผิดตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่ง ทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับไม่อาจมีผลถึงกับยกเลิกความผิดดังกล่าวเห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับวัตถุออกฤทธิ์เข้าร่างกายเท่านั้น มิได้ประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้าร่างกายด้วย ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้” แสดงว่าหากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ย่อมไม่อาจลงโทษบุคคลใด สำหรับการกระทำนั้นได้ ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าขณะที่จำเลยเป็นผู้ขับรถที่เสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ออกมาใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนมิได้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไปและเปลี่ยนมาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวและไม่อาจมีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยตามมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งได้ กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับยกเลิกความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง157 วรรคหนึ่ง เนื่องจากความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังคงมีอยู่ มิได้ถูกยกเลิกไป กล่าวคือ ผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับเข้าร่างกายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มแอมเฟตามีนอื่น นอกจากเมทแอมเฟตามีนหรือวัตถุออกฤทธิ์อย่างอื่นที่อธิบดีกำหนด ยังคงต้องมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนการเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถก็ยังคงเป็นความผิดตามกฎหมาย เพียงแต่การกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งแต่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 ซึ่งมีระวางโทษสูงกว่าเท่านั้น และการเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ทวิ) อีกด้วย ประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว จึงมิได้มีผลทำให้การเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถไม่เป็นความผิดต่อไปแต่ประการใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่าการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้โดยง่าย ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงสมควรลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบและเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น อันจะเป็นการปกป้องประชาชนทั่วไปจากภัยอันตรายบนท้องถนนที่มักเกิดขึ้นจากผู้ขับรถที่มีอาการมึนเมาเมทแอมเฟตามีน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่เห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมายังสูงเกินไปสมควรกำหนดใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1