คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั้นไม่มีบทบัญญัติกฎหมายห้ามมิให้ศาลใช้อำนาจรอการกำหนดโทษในคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุก 10 ปี หรือที่มีอัตราโทษหนักกว่า 10 ปี ในเมื่ออัตราขั้นต่ำของความผิดนั้นศาลพิพากษาลงโทษได้ตั้งแต่ 2 ปีลงมาโดยเฉพาะคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งความผิดที่จำเลยกระทำมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี ศาลย่อมมีอำนาจรอการกำหนดโทษได้แม้ศาลจะกำหนดโทษจำคุกเกิน 2 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 106 ก็ตาม การรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าศาลจะพิพากษาจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปีจึงไม่จำต้องระบุไว้ในคำพิพากษาว่าจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี โดยเฉพาะความผิดในคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งให้อำนาจศาลพิพากษารอการกำหนดโทษได้แม้ว่าจะกำหนดโทษจำคุกจำเลยเกินกว่า 2 ปีก็ไม่จำต้องระบุไว้ในคำพิพากษาว่าจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 18, 67
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ พิเคราะห์รายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลกแล้ว เห็นว่า ความประพฤติโดยทั่วไปของจำเลยไม่มีอะไรเสียหาย จำเลยเพิ่งกระทำผิดคดีนี้เป็นครั้งแรกผู้ปกครองประสงค์จะรับจำเลยกลับไปอยู่ด้วยโดยจะควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้จำเลยกระทำผิดอีกจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ห้ามจำเลยคบเพื่อนที่มีความประพฤติไม่ดีห้ามเสพยาเสพติดทุกชนิด และห้ามเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้กำหนดโทษและส่งตัวจำเลยไปสถานฝึกอบรม
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ศาลมีอำนาจรอการกำหนดโทษในคดีอัตราโทษจำคุก 10 ปีหรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์ไว้แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้เห็นว่า การรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั้นไม่มีบทบัญญัติกฎหมายห้ามมิให้ศาลใช้อำนาจรอการกำหนดโทษในคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุก 10 ปี หรือที่มีอัตราโทษหนักกว่า10 ปี ในเมื่ออัตราขั้นต่ำของความผิดนั้น ศาลพิพากษาลงโทษได้ตั้งแต่ 2 ปีลงมา โดยเฉพาะคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งความผิดที่จำเลยกระทำมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปี ศาลย่อมมีอำนาจรอการกำหนดโทษได้แม้ศาลจะกำหนดโทษจำคุกเกิน 2 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 106 ก็ตามส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าไม่ปรากฏว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยไม่เกิน2 ปี และคดีนี้มีอัตราโทษจำคุก 10 ปี ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจในการรอการกำหนดโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั้นเห็นว่า การรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าศาลจะพิพากษาจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำพิพากษาว่าจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี โดยเฉพาะความผิดในคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งให้อำนาจศาลพิพากษารอการกำหนดโทษได้ แม้ว่าจะกำหนดโทษจำคุกจำเลยเกินกว่า 2 ปี ก็ไม่จำเป็นจะต้องระบุไว้ในคำพิพากษาว่าจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share