คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีล้มละลายในชั้นขอรับชำระหนี้ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระถ้ามีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153 แม้ตามบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินค้านหลังคำขอรับชำระหนี้ปรากฎอยู่ในช่องหลักฐานประกอบหนี้ระบุว่าจำนวนเงิน104,000บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่วันที่5กุมภาพันธ์2534จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตามแต่ในช่องรายการเจ้าหนี้คงระบุแต่เพียงว่าค่าซื้อสินค้าและในช่องจำนวนเงินก็ระบุจำนวน104,000บาทเท่านั้นโดยหาได้ระบุคำนวณจำนวนดอกเบี้ยไว้ด้วยไม่เมื่อดอกเบี้ยก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เป็นหนี้ที่ขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา100การที่เจ้าหนี้มิได้ระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ขอรับชำระหนี้มาเช่นนี้จึงไม่อาจถือว่าเจ้าหนี้ได้ขอรับชำระค่าดอกเบี้ยด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ด้วยจึงเกินคำขอ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่่ 9 เมษายน 2534 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าจำนวน 104,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้รายละเอียดปรากฎตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าหนี้งานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว นายสมเกียรติกิตติธนากร เจ้าหนี้ยื่่นคำโต้แย้งว่า ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้ที่แท้จริง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ลูกหนี้มิได้เป็นผู้สั่งและรับสินค้าของเจ้าหนี้ จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้า เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2534 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในข้อที่ว่าในช่วงเวลาที่มีการซื้อและรับมอบสินค้า ลูกหนี้ได้ให้บริษัทเพ็ญทนา จำกัด เช่าประกอบกิจการโรงงานทอผ้ารวมทั้งทรัพย์สินและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของลูกหนี้ไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ลูกหนี้จะสั่งซื้อและรับมอบสินค้าจากเจ้าหนี้มาเพื่อดำเนินกิจการอีก ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าแก่เจ้าหนี้สัญญาเช่าระหว่างลูกหนี้กับบริษัทเพ็ญทนา จำกัด มีผลผูกพันตามสัญญาไม่น่าจะมีเจตนาอย่างอื่นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ซึ่งเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่า ลูกหนี้ได้สั่งซื้อสินค้าและรับสินค้าไปจากเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อคดีในชั้นขอรับชำระหนี้นี้เป็นคดีที่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง104,000 บาท ซึ่งไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในข้อนี้คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาอีกข้อหนึ่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยมิได้ขอดอกเบี้ยรวมไว้ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า แม้ตามบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินด้านหลังคำขอรับชำระหนี้ ปรากฎอยู่ในช่องหลักฐานประกอบหนี้ระบุว่าจำนวนเงิน 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่5 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตามแต่ในช่องรายการ เจ้าหนี้คงระบุแต่เพียงว่าค่่าซื้อสินค้าและในช่องจำนวนเงินก็ระบุจำนวน 104,000 บาท เท่านั้น โดยหาได้ระบุคำนวณจำนวนดอกเบี้ยไว้ด้วยไม่ เมื่อดอกเบี้ยก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ของลูกหนี้เป็นหนี้ที่ขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 100 การที่เจ้าหนี้มิได้ระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ขอรับชำระหนี้มาเช่นนี้ จึงไม่อาจถือว่าเจ้าหนี้ ได้ขอรับชำระค่าดอกเบี้ยด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ด้วยจึงเกินคำขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share