แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ที่1โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวที่ระบุไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่1เพื่อให้จำเลยที่1โอนให้จำเลยที่2จำเลยที่1จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในส่วนนี้ไว้แทนจำเลยที่2เมื่อจำเลยที่2ประสงค์จะให้จำเลยที่1ใส่ชื่อจำเลยที่2เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่1จำเลยที่1จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการใส่ชื่อจำเลยที่2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวร่วมกับจำเลยที่1ศาลจึงบังคับให้ได้ส่วนที่จำเลยที่1อ้างว่าจำเลยที่2ได้ตกลงกับจำเลยที่1ว่าไม่ประสงค์จะรับที่ดินและตึกแถวที่จำเลยที่1ถือกรรมสิทธิ์แทนและขอโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่1โดยจำเลยที่1ต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยที่2ซึ่งจำเลยที่1ได้ดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่2แล้วนั้นเป็นข้อตกลงกันที่มิได้กระทำต่อหน้าศาลศาลจึงไม่อาจรับรู้ข้อตกลงดังกล่าวและรับบังคับให้ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้แบ่งมรดกของนางซิวง้อ สอนอนุกูล ตามพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 70180 และโฉนดเลขที่ 70181 ตำบลคลองเตยพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถว เลขที่ 2743 และ 2743/1ให้จำเลยทั้งสองโดยจำเลยทั้งสองตกลงชำระเงินจำนวน 5,560,000 บาทให้แก่ทายาท ให้แก่ทายาท และทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2533
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ที่ 1 โอนที่ดินและตึกแถวตามสัญญาประนีประนอมยอมความใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ในโฉนดแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ไว้ในโฉนด ขอให้เรียกโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 มาสอบถาม ขอให้เพิกถอนการโอนและขอให้ปฎิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและสอบถามแล้วมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1รับเงินจำนวน 2,800,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 นำมาวางศาลเพื่อปฎิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวที่ระบุไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ให้จำเลยที่ 1เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ด้วยต่อมาจำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้วางเงินในส่วนที่จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จ่ายแทนไปก่อนไว้ที่ศาลชั้นต้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับไปแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฎิบัติตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวไว้จากโจทก์ที่ 1นั้น เป็นการรับโอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของทรัพย์สินดังกล่าวที่โจทก์ที่ 1 จะต้องโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ไว้แทนจำเลยที่ 2 ด้วยจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในส่วนของทรัพย์สินที่โจทก์ที่ 1จะต้องโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ไว้แทนจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้วางเงินในส่วนที่จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จ่ายแทนไปก่อนไว้ที่ศาลชั้นต้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับไปแล้ว จำเลยที่ 1จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่จำเลยที่ 2 มีความประสงค์ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองบังคับให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะรับที่ดินและตึกแถวที่จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนและขอโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วนั้น เห็นว่าข้อตกลงกันดังกล่าวมิได้กระทำต่อศาล ศาลจึงไม่อาจรับรู้ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าวและรับบังคับให้ได้เมื่อจำเลยที่ 2 มีความประสงค์ให้บังคับคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ ศาลย่อมบังคับให้จำเลยที่ 1ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวร่วมกับจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน