คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ดังนั้น มาตรา 216 จึงเป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่งหากเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกแล้ว แต่ผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงานและได้กระทำการต่อไปเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ผู้กระทำก็ย่อมมีความผิดทั้งตามมาตรา 215 และมาตรา 216 อันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องโจทก์บรรยายว่า ข้อ (1) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหินและวัตถุของแข็งเป็นอาวุธขว้างปาประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่ทำการห้ามปรามมิให้มีการขว้างปาทำลายศาลาประชาคมกับขว้างปาเผาทำลายโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินและโรงงานไทยแลนด์แทนทาลั่มอินดัสตรี จำกัดข้อ (2) เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตสั่งให้จำเลยทั้งสี่กับพวกที่มั่วสุมเพื่อกระทำผิดตามฟ้องข้อ (1) ให้เลิกไป แต่จำเลยกับพวกดังกล่าวไม่ยอมเลิก ดังนี้ ตามคำฟ้องข้อ (1) เป็นการบรรยายฟ้องในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ส่วนฟ้องข้อ (2) เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ซึ่งตามฟ้อง (2)นี้มีความหมายเพียงว่า เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกในขณะที่จำเลยกับพวกกำลังมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 เท่านั้นข้อความตามฟ้องข้อ (2) มิได้มีความหมายว่าในขณะที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกนั้น จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำการครบถ้วนตามฟ้องข้อ (1) อันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยได้กระทำการต่อไปตามฟ้องข้อ (1) โดยไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน จำเลยย่อมมีความผิดตามมาตรา 215 อีกบทหนึ่งอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 216 ตามฟ้องข้อ (2) และต้องลงโทษตามมาตรา 216 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 เวลากลางวันจำเลยทั้งสี่กับพวกได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ 1. จำเลยทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 18 ที่ 20 ถึงที่ 22 และที่ 24 ถึงที่ 35 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 899/2529 ของศาลชั้นต้น รวม 35 คน กับพวกที่หลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกหลายคนร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหินและวัตถุของแข็งเป็นอาวุธ ขว้างปาประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่ห้ามปรามมิให้มีการขว้างปาทำลายศาลาประชาคม อันเป็นทรัพย์สินของทางราชการ กับขว้างปาเผาทำลายโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินและโรงงานไทยแลนด์แทนทาลั่ม อินดัสตรี จำกัดโดยจำเลยที่ 32 ที่ 33 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 899/2529 ของศาลชั้นต้น กับพวกที่หลบหนีเป็นหัวหน้าสั่งการในการกระทำผิดนั้น2. เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตสั่งให้จำเลยทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 18 ที่ 20ถึงที่ 22 และที่ 24 ถึงที่ 34 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 899/2529ของศาลชั้นต้น กับพวกที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.ให้เลิกไปแต่จำเลยทั้งสี่กับพวกก็ไม่ยอมเลิก เหตุเกิดที่ตำบลตลาดใหญ่ กับตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตเกี่ยวพันกัน ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสี่กับพวกได้ และยึดได้เหล็กแป๊ปน้ำยาวประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 อัน แกลลอนใส่น้ำมันเบนซิน 1 แกลลอน ปิ๊ปใส่น้ำมันเบนซิน 1 ปิ๊ป รถยนต์บรรทุกหกล้อไม่มีหมายเลขทะเบียน 1 คัน แผ่นปิดสติกเกอร์ 1 แผ่นซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 215, 216 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน ริบของกลางทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นสองกรรม
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา215 เพียงบทเดียว ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216อีกบทหนึ่ง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง เพียงบทเดียว ส่วนโทษจำคุกคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และริบของกลาง
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นสองกรรม
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่ามาตรา216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญหรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ดังนั้นมาตรา 216 จึงเป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่ง ด้วยเหตุนี้หากเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกแล้ว แต่ผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงานและได้กระทำการต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215ผู้กระทำก็ย่อมมีความผิดทั้งมาตรา 215 และมาตรา 216 อันเป็นกรรมเดียวที่เกิดจากการมั่วสุมและไม่เลิกตามคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งเป็นเจตนาเดียวกัน คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อต่างหากจากกัน โดยในข้อ 1. โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2529 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและร่วมกันใช้ก้อนอิฐก้อนหิน และวัตถุของแข็งเป็นอาวุธขว้างปาประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่ทำการห้ามปรามมิให้มีการขว้างปาทำลายศาลาประชาคมกับขว้างปาเผาทำลายโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน และโรงงานไทยแลนด์แทนทาลั่ม อินดัสตรีจำกัด ซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ส่วนฟ้องข้อ 2. โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตสั่งให้จำเลยทั้งสี่กับพวกที่มั่วสุมเพื่อกระทำผิดตามฟ้องข้อ 1.ให้เลิกไป แต่จำเลยกับพวกดังกล่าวไม่ยอมเลิก อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ซึ่งตามคำฟ้องข้อ 2.ดังกล่าวมานี้ย่อมมีความหมายเพียงว่า เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกในขณะที่จำเลยกับพวกกำลังมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 เท่านั้น ข้อความตามคำฟ้องนี้ไม่อาจแปลความได้ว่าในขณะที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกนั้น จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำการครบถ้วนอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 แล้ว ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย การที่จำเลยได้กระทำการต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 โดยไม่เลิกตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ย่อมมีความผิดตามมาตรา 215 อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 216จึงต้องลงโทษตามมาตรา 216 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง เพียงบทเดียวจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และการกระทำของจำเลยทั้งสี่หาเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสอง, 216, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 216 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share