แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายเครื่องปรับอากาศที่กำหนดให้โจทก์ผู้ซื้อตระเตรียมสถานที่สำหรับการติดตั้งเดินสายไฟฟ้าและติดสวิตซ์สำหรับเครื่องปรับอากาศให้แก่จำเลยผู้ขาย ย่อมเป็นสัญญาที่ถือเอากำหนดเวลาและวิธีการส่งมอบเป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อถึงกำหนดส่งมอบตามสัญญา โจทก์ไม่มีโรงแรมให้จำเลยเข้าติดตั้งส่งมอบเครื่องปรับอากาศ เป็นกรณีที่โจทก์ละเลยไม่รับชำระหนี้จากจำเลยโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 และมีสิทธิริบเงินมัดจำตามมาตรา 378(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องปรับอากาศยี่ห้อเฟดเดอร์สจากจำเลยจำนวน 120 เครื่อง เป็นเงิน 1,260,000 บาทโจทก์วางเงินมัดจำในวันทำสัญญา 126,000 บาท โดยจำเลยจะส่งมอบเครื่องปรับอากาศแก่โจทก์ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2522 จำนวน60 เครื่อง ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2522 จำนวน 60 เครื่องแต่จำเลยไม่จัดการตามกำหนด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 126,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าจำเลยทำสัญญาขายเครื่องปรับอากาศแก่โจทก์ตามฟ้องโดยมีข้อตกลงด้วยว่าต้องนำไปติดตั้งที่โรงแรมของโจทก์ และโจทก์ต้องเตรียมสถานที่ติดตั้งเดินสายไฟฟ้าและสวิตซ์ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศให้พร้อมตามสัญญาข้อ 5 ถึงกำหนดจำเลยพร้อมจะส่งมอบได้ แต่โจทก์ทำการก่อสร้างโรงแรมไม่ทันและไม่สามารถเตรียมสถานที่ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามสัญญาโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 126,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่ามีการเลิกสัญญาซื้อขายเครื่องปรับอากาศตามฟ้องเพราะความผิดของโจทก์อันเป็นเหตุให้จำเลยริบมัดจำแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์เองว่าโจทก์สร้างโรงแรมขึ้น 2 โรง ที่ด้านขวาและด้านซ้ายของสถานีรถไฟนครศรีธรรมราชโรงแรมด้านขวาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 และให้นายเสรี พัวพันธ์เช่าไปดำเนินกิจการและติดตั้งเครื่องปรับอากาศเองตั้งแต่เดือนเมษายน 2522 ส่วนโรงแรมด้านซ้ายสร้างเมื่อ พ.ศ. 2523เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2526 แล้วให้ผู้อื่นเช่าไปดำเนินกิจการเช่นเดียวกันแต่ตามสัญญาที่โจทก์ซื้อเครื่องปรับอากาศจากจำเลยเอกสารหมาย จ.1ระบุในข้อ 4 ให้ผู้ขายส่งมอบเครื่องปรับอากาศแก่ผู้ซื้อภายในวันที่31 สิงหาคม 2522 และวันที่ 31 ธันวาคม 2522 งวดละ 60 เครื่องระบุในข้อ 5 กับในหมายเหตุท้ายสัญญาว่าให้ผู้ขายนำเครื่องปรับอากาศไปติดตั้งให้แก่ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อต้องเป็นผู้ชำระค่าขนส่งและต้องเตรียมช่องสำหรับติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เดินสายไฟฟ้าติดสวิตซ์สำหรับเครื่องปรับอากาศให้แก่ผู้ขายที่โรงแรมที่โจทก์สร้างขึ้นโดยเรียบร้อยครบถ้วน ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาถือเอากำหนดเวลาและวิธีการส่งมอบเป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อถึงกำหนดส่งมอบเครื่องปรับอากาศตามสัญญาแล้ว โจทก์ไม่มีโรงแรมให้จำเลยเข้าติดตั้งส่งมอบเนื่องจากโรงแรมหนึ่งโจทก์ให้นายเสรีเช่าไปก่อนแล้ว ส่วนอีกโรงแรมหนึ่งก็ยังไม่ได้สร้างเป็นการละเลยไม่รับชำระหนี้จากจำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388และมีสิทธิริบเงินมัดจำตามมาตรา 378(2) ไม่ต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์ดังฟ้อง ที่โจทก์อ้างว่านายไพบูลย์ อร่ามกุล ตัวแทนจำเลยขอเลื่อนการส่งมอบงวดแรกไปส่งมอบพร้อมงวดหลัง แล้วไม่จัดการให้เป็นการเลื่อนเวลาไปโดยไม่มีกำหนด นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ไม่น่าเชื่อ ตรงกันข้าม จำเลยมีนายมานิตย์ เรืองธีระพันธ์ ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยและนายบุญตัก อุดมภาสกร ผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปและเป็นผู้ลงชื่อแทนจำเลยในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 มาเบิกความยืนยันตรงกันว่าจำเลยได้ติดต่อขอส่งมอบเครื่องปรับอากาศกับโจทก์ตามสัญญาทุกงวดแต่โจทก์ไม่พร้อมจะรับจำเลยจึงเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำแล้วประกอบกับจำเลยเป็นเจ้าของสินค้าย่อมอยากขายเป็นธรรมดาเพราะต้องลงทุนไว้มาก หากขายได้อาจจะมีกำไรยิ่งกว่าริบมัดจำ ทั้งจำเลยก็พร้อมจะส่งมอบดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยสามารถขายเครื่องปรับอากาศขนาดและชนิดเดียวกันนี้ให้นายเสรี พัวพันธ์ ในเดือนกันยายน 2522 ปรากฏตามคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 7489/2524พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักและเหตุผลยิ่งกว่าของโจทก์”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง