คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6744/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะในข้อหาที่โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย
ข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 371 และความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าวนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๓๖๔, ๓๖๕, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ น่าจะหมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕ เท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในข้อหานี้ ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าวนี้ สำหรับข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕ นั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ จะพิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมาก แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๒ ปี และปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ดังนี้ ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกอันเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม.

Share