คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6744/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” ดังนั้น การที่โจทก์และ ร.เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริต เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์หลอกลวง ร.ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม แต่พยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้ จึงถือว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินและบ้านพิพาท ร.มารดาของจำเลยเป็นผู้ซื้อและใช้เงินตนเองเท่านั้น การที่จำเลยนำสืบและอุทธรณ์ว่าเงินที่ใช้ซื้อที่ดินและบ้านเป็นของจำเลยส่วนหนึ่งด้วยจึงเป็นการนำสืบและอุทธรณ์นอกคำให้การ
โจทก์และมารดาจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยโจทก์รับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทมาโดยสุจริต ทั้งไม่ได้มีนิติกรรมห้ามไม่ให้แบ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคแรก
โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมห้ามมิให้แบ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้แบ่งแยกที่ดินและตึกแถวพิพาทได้และก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์และจำเลยไปพบพนักงานสอบสวนแล้วบันทึกลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าผู้แจ้งทั้งสองมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ ร้อยตำรวจเอก ส.พยายามไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายตกลงไปฟ้องร้องกันต่อศาลแพ่งเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โดยไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวขอแบ่งแยกไปยังจำเลยแล้วหรือไม่

Share