คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 628/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยฟ้องสามีโจทก์ขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์และขับไล่สามีโจทก์และบริวารนอกจากที่พิพาท สามีโจทก์ต่อสู้คดีว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้รับมรดกมาในระหว่างที่สามีโจทก์กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นสินสมรสระหว่างสามีโจทก์กับโจทก์เมื่อศาลพิพากษาขับไล่สามีโจทก์และบริวารออกจากที่พิพาทแล้วโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยขอให้แสดงกรรมสิทธิในที่พิพาทว่าเป็นของโจทก์และให้เพิกถอนคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้รับมรดกมาในในระหว่างเป็นสามีภรรยากันคือเป็นสินสมรส อย่างที่สามีโจทก์เคยให้การต่อสู้ไว้ในคดีก่อน เช่นนี้ ย่อมเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติ ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 148 จะถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกตามความหมายแห่งมาตรา 145(2) ไม่ได้ ต้องถือว่าโจทก์เป็นบริวารของสามี
โจทก์จำเลยโต้เถียงกรรมสิทธิที่ดินกัน จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ฟ้องซ้ำด้วย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่เป็นฟ้องซ้ำแต่ฟังข้อเท็จจริงว่า เป็นที่ของจำเลย จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ จำเลยจึงไม่อยู่ที่จะเป็นผู้อุทธรณ์คดี แต่จำเลยกล่าวแก้อุทธรณ์โจทก์ ได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์ด้วย ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้อ้างอิงข้อกฎหมายนี้ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยด้วยแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยได้รับมรดกแล้วปกครองตลอดมา จำเลยลอบไปประกาศรับมรดกแทนสามีจำเลยแล้วได้ยื่นฟ้องขับไล่นายบ่าย (สามีโจทก์) ออกจากที่พิพาท ศาลได้พิพากษาขับไล่นายบ่ายตามสำนวนคดีดำที่ ๒๗/๒๔๙๒ โจทก์จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และให้เพิกถอนคำพิพากษาในคดีดำที่ ๒๗/๒๔๙๒ เสีย
จำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ และตัดฟ้องว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดำที่ ๒๗/๒๔๙๒
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินรายพิพาทเดิมเป็นของนายนิล จำเลยรับมรดกนายนิล จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นฟ้องซ้ำ จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ และว่าศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัย
ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นข้อฟ้องซ้ำนี้ จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้แต่ต้น แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่ก็พิพากษาให้จำเลยชนะคดี จำเลยย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะอุทธรณ์คดีแต่ประการใด ถึงดังนั้นเมื่อจำเลยกล่าวแก้อุทธรณ์โจทก์ จำเลยก็ได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวในคำแก้อุทธรณ์ด้วย ถือได้ว่าจำเลยได้อ้างอิงข้อกฎหมายนี้ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยด้วยแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ส่วนปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำหรือไม่นั้น ปรากฎว่าที่พิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินในคดีดำที่ ๒๗/๒๔๙๒ ซึ่งจำเลยในคดีนี้ได้ฟ้องนายบ่ายสามีโจทก์ในคดีนี้ ขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิและขับไล่นายบ่ายกับบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลย นายบ่ายสามีโจทก์ต่อสู้ว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นของโจทก์อันได้รับมรดกจากนางพิมมารดา ก่อนนางทิมตาย นายบ่ายกับโจทก์และนางทิมได้อยู่ร่วมกันตลอดมาในคดีนี้ โจทก์ก็อ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของโจทก์ซึ่งโจทก์กับนาทิมมารดาได้ร่วมกันยึดถือครอบครอง และโจทก์ได้รับมรดกนางทิมต่อมา ทำนองเดียวกับประเด็นข้อต่อสู้ของนายบ่ายซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อน จึงเป็นการเห็นได้ชัดว่าตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์และนายบ่ายนั้น ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายบ่าย ๆ ย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ ตาม ก.ม.สามีย่อมเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ด้วยเมื่อนายบ่ายถูกฟ้องในคดีดำที่ ๒๗/๒๔๙๒ โจทก์ก็ทราบ แต่มิได้ยื่นเมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใดคดีนั้นศาลพิพากษาขับไล่นายบ่ายกับบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์อยู่ในฐานะที่เป็นบริวารของนายบ่ายด้วย คดีจึงเข้าบทบัญญัติแห่ง ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๑๔๘ ที่ห้ามมิให้คู่ความนำคดีมารื้อฟ้องกันใหม่ โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๔๕(๒) ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน

Share