แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคต้นที่ว่า”เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น อันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น” เป็นบทบัญญัติห้ามไม่ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิมอีกเท่านั้น ถ้าเป็นคดีฟ้องใหม่ไม่ใช่คดีเดิมบทบัญญัติดังกล่าวไม่บังคับถึง
พี่สาวโจทก์เคยฟ้องขอแบ่งทรัพย์จากจำเลย โดยอ้างว่าเป็นมรดกของมารดา ศาลตัดสินว่าทรัพย์พิพาทไม่ใช่มรดกของมารดาแต่เป็นของจำเลยกับสามีมาครั้งหนึ่งแล้ว บัดนี้โจทก์มาฟ้องขอแบ่งทรัพย์นั้นจากจำเลยโดยอ้างว่าเป็นมรดกของมารดาอีก ดังนี้ คดีไม่ต้องข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของนางกลับผู้เป็นมารดาโจทก์และมารดานายปั้นสามีจำเลย
จำเลยต่อสู้หลายประการ และว่าทรัพย์รายนี้นางหมาพี่สาวโจทก์ได้ฟ้องจำเลยครั้งหนึ่งแล้ว ศาลจังหวัดตรังชี้ขาดว่า ทรัพย์นี้ไม่ใช่มรดกของนางกลับ แต่เป็นของนายปั้นสามีจำเลย และจำเลยดังปรากฎตามคดีแดงที่ 259/92
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์รับแล้วว่า ฟ้องคดีนี้เป็นกรณีเดียวกับคดีแดงที่ 259/2492 ตามข้อต่อสู้ของจำเลยคดีจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาอีกไม่ได้ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จะยกมาตรา 144 มาปรับบทไม่ได้ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144เป็นบทบัญญัติห้ามไม่ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิมอีกเท่านั้นคดีนี้เป็นคดีฟ้องกันใหม่ ไม่ใช่คดีเดิม บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่บังคับถึง
พิพากษายืน