คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การภายในกำหนด ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ ศาลจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 2 ลักษณะ 2 หมวด 2 การพิจารณาโดยขาดนัดซึ่งบัญญัติใหม่ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2543 แก่คดีที่ยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
ศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์วันที่ 13 กันยายน 2543 จำเลยที่ 1 ทราบนัดแล้วไม่มาศาล จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง ศาลชอบที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 204 เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จนแล้วเสร็จก็ย่อมที่จะมีอำนาจพิพากษาคดีไปเสียทีเดียว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 206 วรรคสาม และวรรคสี่ (1) ที่ให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบได้หากมาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ เพราะจำเลยที่ 1 มิได้มาศาลในวันสืบพยานฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นจึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา ผิดระเบียบตาม มาตรา 27 ประกอบมาตรา 88 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน ๑๑,๒๗๑,๘๗๕.๙๐ บาท พร้อมอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔.๕๐ บาท ของต้นเงินจำนวน ๑๐,๖๒๓,๑๐๙.๒๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสองไม่มาศาลในวันสืบพยาน ถือว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๔ โจทก์นำพยานเข้าสืบ ๑ ปากและแถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จใน วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓ ตามที่มีคำสั่งนัดไว้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเพื่อให้จำเลยที่ ๑ สืบพยานตามที่ได้ยื่นคำให้การไว้ แล้วจึงจะพิพากษาตามรูปคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไว้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเพื่อให้จำเลยที่ ๑ สืบพยานตามที่ได้ยื่นคำให้การไว้ แล้วจึงจะพิพากษาตามรูปคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นเอง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ ประกอบมาตรา ๘๘ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษา ศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การภายในกำหนด ส่วนจำเลยที่ ๒ ไม่ยื่นคำให้การศาลจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๒ ลักษณะ ๒ หมวด ๒ การพิจารณาโดยขาดนัด ซึ่งบัญญัติใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๓ แก่คดีที่ยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ ทราบนัดแล้วไม่มาศาลในวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง และศาลชอบที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๔ ซี่งเมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จนเสร็จโดยจำเลยที่ ๑ มิได้อยู่ในศาล ก็ย่อมที่จะมีอำนาจพิพากษาคดีไป เสียทีเดียวตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๐๔ ดังกล่าว ข้อเท็จจริงในคดีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๖ วรรคสาม และวรรคสี่ (๑) ที่ให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบได้ หากศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ เพราะคดีนี้จำเลยที่ ๑ มิได้มาศาลในวันสืบพยาน ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นจึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ ประกอบมาตรา ๘๘ ดังที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ .

Share