คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5229/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ที่คณะกรรมการสภาทนายความออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวออกใช้บังคับมิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ ฉะนั้น สัญญาจ้างว่าความที่ระบุว่า “คิดค่าทนายความร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ โดยชำระค่าทนายความเมื่อบังคับคดีได้ กรณีบังคับคดีได้เพียงบางส่วนก็คิดค่าทนายความบางส่วนที่บังคับคดีได้ และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความ” จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนข้อตกลงที่ให้คิดค่าทนายความเป็นร้อยละของทุนทรัพย์ และลดส่วนลงหากบังคับคดีได้เพียงบางส่วน หรือมีการประนีประนอมยอมความกัน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความ หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาจ้างว่าความจึงไม่เป็นโมฆะ และตามสัญญาจ้างว่าความเมื่อไม่มีข้อใดที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชค และไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะกัน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของที่ทนายความต้องลงแรงว่าต่างให้แก่ลูกความจึงหาใช่เป็นการพนันขันต่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 853 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น โดยตกลงค่าทนายความเป็นเงิน 30,000 บาท และว่าต่างในคดีแพ่งของศาลแพ่ง โดยตกลงค่าทนายความเป็นเงินร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ 17,188,356 บาท และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความเพียงร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความกัน ซึ่งต่อมาโจทก์จำเลยในคดีดังกล่าวตกลงยอมความกัน โดยจำเลยในคดีดังกล่าวจะต้องชำระเงินให้แก่จำเลยคดีนี้เป็นเงิน 18,000,000 บาท คิดเป็นค่าทนายความที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,800,000 บาท ต่อมาในคดีดังกล่าว นายมนัสสามีจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จำเลยไม่ยินยอม จึงได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความคัดค้านโดยตกลงค่าทนายความเป็นเงิน 1,000,000 บาท ต่อมาจำเลยในคดีดังกล่าวผิดนัดไม่ยอมชำระเงินตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่จำเลยคดีนี้ จำเลยจึงได้มอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการบังคับคดี โจทก์ได้ออกเงินสำรองจ่ายและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีเป็นเงิน 5,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,835,000 บาท แต่จำเลยได้ถอนโจทก์ออกจากการเป็นทนายความและถอนการมอบอำนาจในการบังคับคดี เป็นการขัดขวางเพื่อไม่ให้เงื่อนไขในการที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์บรรลุผล จึงเป็นการผิดสัญญากับโจทก์ ในที่สุดจำเลยในคดีดังกล่าวได้ชำระหนี้แล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,260,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,835,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสุขสำราญทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,810,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15721/2535 ของศาลแพ่ง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาจ้างว่าความเป็นโมฆะหรือไม่ รายละเอียดในสัญญาดังกล่าวระบุว่า “คิดค่าทนายความร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ 17,188,356 บาท โดยชำระค่าทนายความเมื่อบังคับคดีได้ กรณีบังคับคดีได้เพียงบางส่วนก็คิดค่าทนายความบางส่วนที่บังคับคดีได้ และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความ” ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะคิดค่าจ้างว่าความโดยแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและเป็นการพนันขันต่อนั้น เห็นว่า แม้ตาม พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2477 มาตรา 12 (2) ระบุห้ามไม่ให้ทนายความว่าต่างแก้ต่างโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ และตาม พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2508 ที่มิได้บัญญัติห้ามข้อนี้ไว้โดยตรง แต่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ว่า ทนายความต้องปฏิบัติให้ต้องตามมรรยาททนายความตามที่เนติบัณฑิตยสภากำหนด การกำหนดมรรยาททนายความให้เนติบัณฑิตยสภาตราเป็นข้อบังคับและประกาศในราชกิจจานุเบกษา และวรรคสองว่า ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนข้อความที่เนติบัณฑิตยสภาตราขึ้นตามวรรคก่อน ทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ และ พ.ร.บ. ทนายความฉบับดังกล่าว มาตรา 41 บัญญัติว่า ในระหว่างที่เนติบัณฑิตยสภายังมิได้ตราข้อบังคับขึ้นตามมาตรา 17 ให้ถือว่าความในมาตรา 12 (1) (2) (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2477 และข้อบังคับของเนติบัณฑิตยสภาว่าด้วยมรรยาททนายความ… เป็นเสมือนข้อบังคับที่เนติบัณฑิตยสภาได้ตราขึ้นตามมาตรา 17 ก็ตาม แต่ต่อมามี พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2529 ที่คณะกรรมการสภาทนายความออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวออกใช้บังคับโดยมิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความดังเช่น พ.ร.บ. ทนายความสองฉบับแรกแต่อย่างใด ฉะนั้น สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ปัญหาว่าข้อกำหนดตามสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15721/2535 ของศาลแพ่ง ทุนทรัพย์พิพาทในคดีจำนวน 20,694,520 บาท แต่โจทก์คิดค่าทนายความเพียงร้อยละ 20 ของทุนทรัพย์ 17,188,356 บาท และลดส่วนลงหากบังคับคดีได้เพียงบางส่วน หรือมีการประนีประนอมยอมความกัน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความระหว่างโจทก์จำเลย หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาจ้างว่าความจึงไม่เป็นโมฆะ ปัญหาประการต่อมาว่าสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวเป็นการพนันขันต่อหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า การพนัน หมายความว่า การเล่นเอาเงินหรือสิ่งอื่นด้วยการเสี่ยงโชคหรือฝีมือ ส่วนคำว่า ขันต่อ หมายความว่า การต่อรองซึ่งได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะ สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวไม่มีข้อใดที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคและไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะกันระหว่างโจทก์จำเลย แต่เป็นสัญญาจ้างทำของที่โจทก์ต้องลงแรงว่าต่างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกความ จึงหาใช่เป็นการพนันขันต่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 853 ไม่
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์ดำเนินการบังคับคดีแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อโจทก์เป็นทนายความฟ้องนายเริ่มรัฐกับนายคะเน็ต แล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลแพ่งพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวผิดสัญญา โจทก์ในฐานะทนายความได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ดำเนินการบังคับคดี เดือนมิถุนายน 2537 จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวได้นำเงินมาวางชำระที่ศาลแพ่งแล้ว เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยได้ดำเนินการบังคับคดีแล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวได้วางเงินชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกจำเลยฟ้องคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้โดยการว่าจ้างทนายความคนอื่นหรือเพราะการบังคับคดียึดทรัพย์ก็ตาม ถือว่ามีการบังคับคดีและจำเลยได้รับชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลย
พิพากษายืน.

Share