คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นความผิดและตามบทกฎหมายที่กำหนดโทษไว้ การที่ศาลอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งจำเลยทราบแล้วไม่ได้โต้เถียงหรือคัดค้านมากล่าวในคำพิพากษาประกอบการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการร้ายแรงหรือไม่เพียงใด เพื่อที่ศาลอุทธรณ์จะได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าสมควรจะลงโทษหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลย หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้องไม่
ความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ฐานมีโทรศัพท์มือถืออันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 23 และความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามมาตรา 26 มีองค์ประกอบความผิดต่างกัน กล่าวคือความผิดตามมาตรา 23 เป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตส่วนความผิดมาตรา 26 เป็นความผิดเพราะจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม แม้จำเลยจะมีโทรศัพท์มือถือโดยได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตก็ตามหากจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมแล้วการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตาม มาตรา 26 ซึ่งเป็นความผิด 2 กรรม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระเป็น 2 กรรม ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีโทรศัพท์มือถืออีริคสันพร้อมแบตเตอรี่ 1 เครื่องอันเป็นเครื่อง วิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และจำเลยได้ใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวโดยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวน หรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมโทรศัพท์มือถือดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 6, 23, 26 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91ริบของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 6, 26 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีโทรศัพท์มือถือโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุก 1 ปี ความผิดฐานกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ลงโทษจำคุก 1 ปี รวมลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุก 1 ปี ของกลางริบไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีโทรศัพท์มือถืออีริคสันพร้อมแบตเตอรี่ 1 เครื่อง อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และจำเลยได้ใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวโดยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมโทรศัพท์มือถือดังกล่าวเป็นของกลาง

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 2 (ก) เป็นประการแรก จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นนำเอาข้อเท็จจริงที่ไม่มีหรือปรากฏในคำฟ้องนำมาวินิจฉัยพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นเป็นการอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเนื่องจากคำฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่ามีโทรศัพท์มือถืออันเป็นเครื่องวิทยุ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและจำเลยได้ใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวโดยจงใจให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อวิทยุคมนาคม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวหรือบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทำให้บุคคลใดเสียหายเป็นเงินถึง 101,336.40บาท แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง และจำเลยปรับจูนโทรศัพท์มือถือใช้เป็นเงิน101,336.40 บาท จึงเป็นคำพิพากษาเกินคำขอ และที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องนั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้พิพากษาเกินคำขอ และที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมา การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 หยิบยกเอาจำนวนเงิน 101,336.40 บาท ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยทราบแล้ว ไม่ได้โต้เถียงหรือคัดค้านมากล่าวในคำพิพากษานั้นเป็นเพียงการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 หยิบยกเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการร้ายแรงหรือไม่เพียงใด เพื่อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าสมควรจะลงโทษหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่อย่างใดเท่านั้น หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้องไม่เพราะถึงอย่างไรศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นความผิดและตามบทกฎหมายที่กำหนดโทษไว้เท่านั้นซึ่งเป็นการชอบแล้ว

มีปัญหาประการที่สอง ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 23 ความผิดฐานมีโทรศัพท์มือถืออันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 26 ความผิดฐานจงใจให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปี รวม 2 กรรมเป็นจำคุก 2 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษคงลงโทษจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เพราะจำเลยให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยบุคคลอื่นว่าจ้างจำเลย และจำเลยได้เข้าครอบครองเครื่องโทรศัพท์มือถือและให้บริการทันที จำเลยกระทำผิดเพียงเจตนาเดียวในคราวเดียวกันและต่อเนื่อง จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์เห็นได้ชัดเจนว่า ความผิดฐานมีโทรศัพท์มือถืออันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 23 และความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามมาตรา 26 นั้น มีองค์ประกอบความผิดต่างกันและเป็นความผิด 2 กรรม กล่าวคือ ความผิดตามมาตรา 23 นั้น เป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต ส่วนความผิดมาตรา 26 นั้นเป็นความผิดเพราะจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมซึ่งความผิดฐานนี้แม้จำเลยจะมีโทรศัพท์มือถือโดยได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม หากจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมแล้ว การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามมาตรา 26 นี้เช่นกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระเป็น 2 กรรมนั้นจึงชอบแล้ว

สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยน่าจะไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะปรับจูนคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้อื่นได้ น่าเชื่อว่าจำเลยรับจ้างนายเอกให้บริการโทรศัพท์มือถือแก่ผู้ว่าจ้าง สถานที่ให้บริการก็อยู่ในที่เปิดเผยโดยจำเลยไม่ทราบว่าโทรศัพท์มือถือนั้นถูกปรับจูนคลื่นโทรศัพท์มือถือของคนอื่น จำเลยจึงน่ากระทำการไปโดยโง่เขลาเบาปัญญา การกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่เป็นการร้ายแรงนัก ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษมานั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่เนื่องจากจำเลยเป็นหญิงอายุเพียง 21 ปีเศษ และถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความมานะพยายามใฝ่การศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเองด้วยกำลังและความสามารถของตนเอง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดถึงต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยกระทำผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากจะให้จำเลยต้องรับโทษ ถึงจำคุกในระยะสั้นแล้ว น่าจะไม่เป็นผลดีแก่การแก้ไขอบรมจำเลยให้รู้จักผิดชอบชั่วดี สมควรให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยให้รอการลงโทษจำเลยไว้ก่อนแต่เพื่อให้จำเลยรู้สึกเข็ดหลาบและยำเกรงต่อกฎหมาย จึงให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และสมควรคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยกระทงละ 1,000 บาท รวม2 กระทง ปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับ 1,000 บาท และให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน4 ครั้ง ตามที่เจ้าพนักงานคุมประพฤติกำหนดภายในระยะเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share