คำวินิจฉัยที่ 16/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๕๕

วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพิจิตร

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นางสาวดำ มามี ที่ ๑ นายเล็ก มามี ที่ ๒ นางสาวภัทราพรมามี ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง นายอำเภอสามง่าม ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินหัวหน้าส่วนแยกสามง่าม ที่ ๒ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่๖๕/๒๕๕๓ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๖๖๖ เลขที่ ๑๘๗๙๐ และเลขที่ ๕๖๖๕ ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ตามลำดับ ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ มีคำสั่งตามหนังสือที่ พจ ๐๔๑๗/๕๕๒-๕๕๓ ลงวันที่๓ มีนาคม ๒๕๕๓ ว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามด้านทิศเหนือติดกับที่ดินของผู้มีชื่อเป็นทางสาธารณประโยชน์กว้างประมาณ ๓ เมตร และห้ามผู้ฟ้องคดีทั้งสามอย่าได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการปิดกั้นทางเดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเห็นว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเว้นไว้สำหรับให้ญาติที่มีที่ดินติดกันใช้เป็นทางเดินไปบริเวณท่าน้ำ มิได้มีการยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ได้ไปปรึกษากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ออกโฉนดที่ดินเพิ่มเติมที่เว้นว่างไว้ แต่ได้รับการปฏิเสธ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่แจ้งว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นทางสาธารณประโยชน์ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำการรังวัดที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เพิ่มเติมจากที่ได้เว้นว่างไว้
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า อำเภอสามง่ามได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ร้องเรียนว่า ได้แบ่งพื้นที่บางส่วนกว้างประมาณ ๓ เมตรเพื่อเป็นทางเดินของญาติเท่านั้น แต่ทางอำเภอสามง่ามระบุว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์เมื่อผู้มีชื่อมาขอออกโฉนดที่ดินคณะกรรมการสรุปว่า ทางดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์แม้ไม่มีหลักฐานการอุทิศให้เป็นหนังสือ ก็ตาม อำเภอสามง่ามแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทราบ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒อุทธรณ์ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวถูกตัดแบ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์เกิดจากการที่เจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันมิได้เกิดจากการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กระทบสิทธิของผู้ร้องเรียนแต่อย่างใด การแจ้งผลการตรวจสอบเป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นทางสาธารณะดังกล่าวเท่านั้น คำร้องคัดค้านผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงมิใช่คำอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๔๔ และ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาคำคัดค้านดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของจังหวัดพิจิตรให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทราบและขอให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ อย่ากระทำการใด ๆ อันเป็นการปิดกั้นทางเดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว อันเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อันอยู่ในเขตอำเภอตามมาตรา ๑๒๒แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นข้าราชการสังกัดกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือที่ พจ ๐๔๑๗/๕๕๒-๕๕๓ ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๓ แจ้งว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน และห้ามมิให้กระทำการใด ๆอันเป็นการปิดกั้นทางเดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว การมีหนังสือของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำดังกล่าวได้ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามเห็นว่าที่ดินพิพาทเจ้าของเดิมเพียงแต่เว้นไว้สำหรับเป็นทางเดินในเครือญาติเท่านั้นมิได้อุทิศเป็นทางสาธารณประโยชน์และได้ปรึกษากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ออกโฉนดที่ดินเพิ่มเติมที่เว้นว่างไว้ แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการรังวัดเพิ่มเติมในส่วนที่ว่างไว้เป็นทางเดิน จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการรังวัดที่ดินให้ถูกต้องตามโฉนดที่ดิน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับ โดยสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการใด ๆ ที่เป็นการรบกวนกรรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถือปฏิบัติต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามและสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนดตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง(๑) (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า การออกคำสั่งว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ และห้ามผู้ฟ้องคดีทั้งสามกระทำการใด ๆ อันเป็นการปิดกั้นทางเดินนั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาบังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ ทั้งนี้ ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของเอกชนฝ่ายหนึ่งกับการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะอีกฝ่ายหนึ่ง มิใช่เรื่องสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนกับเอกชน ทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นทางสาธารณประโยชน์และห้ามมิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวก็เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณะ มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณะ มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีจึงเป็นคดีที่พิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และเมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพิจิตรพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่า ทางเดินพิพาทกว้างประมาณ ๓ เมตร เป็นของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำการรังวัดที่ดินเพื่อให้ทางเดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือคัดค้าน ฉบับลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๓ ว่า ทางเดินพิพาทเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นทางที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทมีว่า ทางเดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ หรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ กรณีเป็นเรื่องที่คู่ความยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในทางเดินพิพาทว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเสียก่อนเป็นสำคัญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า
ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๖๖๖ เลขที่ ๑๘๗๙๐ และเลขที่ ๕๖๖๕ ตามลำดับ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งตามหนังสือที่ พจ ๐๔๑๗/๕๕๒-๕๕๓ ให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามซึ่งกว้างประมาณ ๓ เมตร ด้านทิศเหนือ เป็นทางสาธารณประโยชน์และห้ามผู้ฟ้องคดีทั้งสามกระทำการใดปิดกั้นทางเดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเห็นว่า ที่ดินดังกล่าวผู้ฟ้องคดีทั้งสามเว้นไว้สำหรับให้ญาติที่มีที่ดินติดกันใช้เป็นทางเดินไปท่าน้ำ มิได้ยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ จึงปรึกษาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ออกโฉนดที่ดินที่เว้นว่างไว้เพิ่มเติมแต่ได้รับการปฏิเสธ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่แจ้งว่าที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำการรังวัดที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เพิ่มเติมจากที่ได้เว้นว่างไว้ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า อำเภอสามง่ามได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ร้องเรียนคณะกรรมการสรุปว่า ทางดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์ อำเภอสามง่ามจึงแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทราบ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จึงอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวถูกตัดแบ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันมิได้เกิดจากการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กระทบสิทธิของผู้ร้องเรียน การแจ้งผลการตรวจสอบเป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นทางสาธารณะเท่านั้น คำร้องคัดค้านผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงมิใช่คำอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำคัดค้านดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ทางที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเว้นไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันเฉพาะผู้ฟ้องคดีทั้งสามกับบริวารเท่านั้น หรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามยังขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือชี้แจงของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ว่าที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นทางสาธารณประโยชน์อย่าปิดกั้นตามหนังสือที่ พจ ๐๔๑๗/๕๕๒-๕๕๓ ซึ่งหนังสือดังกล่าวคงมีสาระสำคัญเป็นเพียงการชี้แจงให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามทราบว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์เท่านั้น อย่าปิดกั้น หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย หนังสือดังกล่าวนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการแจ้งให้ทราบเท่านั้น จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองและมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวดำ มามี ที่ ๑ นายเล็ก มามี ที่ ๒ นางสาวภัทราพรมามี ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี นายอำเภอสามง่าม ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินหัวหน้าส่วนแยกสามง่าม ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share