คำวินิจฉัยที่ 15/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๕๕

วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นายสนทยา น้อยเจริญ ที่ ๑ นายสนทยา น้อยเจริญ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเสาวลักษณ์ น้อยเจริญ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙๙/๒๕๕๒ ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทสีลม แพลนเนอร์ จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและทางด้านการบริหารงาน และเป็นผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการกิจการ การจัดการหลักทรัพย์ การจัดการด้านการเงิน และการจัดการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุน รวมตลอดถึงการให้บริการเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกของนางเสาวลักษณ์ น้อยเจริญ ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ผู้ถูกฟ้องคดีได้กล่าวโทษผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไว้ตามมาตรา ๒๖๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ร่วมกับบุคคลอื่นทุจริต ยักยอกเงินและหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมิได้มีการแจ้งข้อกล่าวหานางเสาวลักษณ์แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มิได้ร่วมกับบุคคลอื่นทุจริต ยักยอกเงินและหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊สฯ และไม่มีส่วนร่วมหรือดำเนินการใดๆ ในการยักยอกเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีอายัดไว้ โดยทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนางเสาวลักษณ์ซึ่งมิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี การออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีจึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ทำให้ไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกของนางเสาวลักษณ์ให้แก่ทายาทได้ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๒ และได้มีหนังสือลงวันที่ ศาลอาญาเพื่อวินิจฉัย ฉะนั้น หากคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองอีกศาลหนึ่ง ย่อมก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ใช้บังคับกฎหมาย รวมทั้งเอกชนผู้อยู่ใต้บังคับของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ศาลทั้งสองมีคำวินิจฉัยแตกต่างกัน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีบทบัญญัติที่มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจทางปกครองหลายประการ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตามบทนิยามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ด้วย และโดยที่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ได้แก่ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๖๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ออกคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิในทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีอันเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นฟ้องคดีต่อศาลว่า การออกคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการออกคำสั่ง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า การออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามมาตรา ๒๖๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๑๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดโทษทางอาญาไว้เพียง ๕ สถานคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน การยึดหรืออายัดทรัพย์สินจึงมิใช่เป็นการลงโทษในทางอาญา และแม้ว่าการยึดและการอายัดทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้การดำเนินคดีอาญาหรือคดีแพ่งในชั้นบังคับคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินคดีอาญาหรือทางแพ่ง อันเกิดจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ หากแต่เป็นขั้นตอนต่างหากที่แยกออกมาจากการดำเนินคดีดังกล่าว ดังจะเห็นได้ว่าเงื่อนไขของการที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะใช้อำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลใดนั้น ได้แก่ การที่ปรากฏหลักฐานว่ามีบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และผู้ถูกฟ้องคดีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กระทำการนั้นจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนเท่านั้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินคดีอาญา (เช่น การกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน) เสียก่อน นอกจากนี้ ในการพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ประเด็นที่จะต้องพิจารณาคดีคือ คำสั่งอายัดทรัพย์สินที่กระทำโดยผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีที่จะต้องอาศัยหลักการพิจารณาทางปกครองในส่วนที่ว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายทางปกครอง อันได้แก่ การพิเคราะห์ว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจในการออกคำสั่งหรือไม่ และคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายได้ให้ไว้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยหลักการหรือความเชี่ยวชาญในการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามกฎหมายแต่อย่างใด และแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อมีคำสั่งขยายระยะเวลาการยึดและอายัดทรัพย์ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีไปอีก และศาลอาญาได้มีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีไปแล้ว แต่การที่ศาลอาญามีคำสั่งดังกล่าวก็เป็นการดำเนินการในขั้นตอนที่ต่อมาจากการออกคำสั่งดังกล่าว และมิได้เป็นการผูกมัดหรือถือเป็นยุติในเรื่องอำนาจศาลแต่อย่างใด คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นกระบวนการที่ป้องกันการยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการที่จะให้มีการริบทรัพย์สินของผู้กระทำผิดต่อไปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินคดีอาญา โดยหากศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวได้พิเคราะห์พยานหลักฐานในสำนวนแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินของผู้กระทำผิดที่ยึดหรืออายัดไว้เป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็อาจใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ซึ่งบัญญัติรองรับอำนาจของศาลอาญาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมว่าในการริบทรัพย์สินนอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วยคือ (๒) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยการกระทำความผิด ดังนั้นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นกระบวนการต่อเนื่องกับการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาในข้อหาความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยหากศาลเห็นว่าทรัพย์สินที่ยึดไว้เป็นทรัพย์สินที่ได้โดยการกระทำความผิดก็มีอำนาจริบให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน อันถือเป็นการลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำผิดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา ๑๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้มาตรา ๔๔/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาก่อนเริ่มสืบพยานขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลยได้ด้วย ดังนั้นการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนยุติธรรมทางอาญาอันนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดให้มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีและมีโทษทางอาญา ทั้งยังเป็นการเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ด้วย ดังนั้น หากมีการร้องขอให้เพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงชอบที่ศาลยุติธรรมจะมีอำนาจตรวจสอบกระบวนการขั้นตอนดังกล่าวเสียแต่ต้น ประกอบกับการพิจารณาเพิกถอนการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีในการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๖๗ นั้น จะต้องพิจารณาถึงสามประเด็นด้วยกันคือ ประเด็นที่หนึ่งคือต้องปรากฏหลักฐานว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ประเด็นที่สองคือความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเข้าองค์ประกอบความผิดที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และประเด็นสุดท้ายคือมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนหรือไม่ ซึ่งทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีต่างก็มีหน้าที่ต้องเสนอพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจออกคำสั่งได้อย่างถูกต้องด้วย ดังนั้นในการดำเนินกระบวนพิจารณาเพิกถอนการใช้อำนาจสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยหลักวิชาการตามประมวลกฎหมายอาญาและความเชี่ยวชาญในการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะบ่งชี้ให้เห็นในเบื้องต้นว่าผู้ที่จะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำไปเป็นความผิดที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาพยานหลักฐานต่อไปอีกว่ามีเหตุสมควรเชื่อว่า ผู้กระทำผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนหรือไม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสิ้น ดังนั้นความเห็นของศาลปกครองที่ว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องนี้คือ คำสั่งอายัดทรัพย์สินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะวิเคราะห์เพียงว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจในการออกคำสั่งหรือไม่ และคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายให้ไว้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักการหรือความเชี่ยวชาญในการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามกฎหมายอาญาแต่อย่างใดนั้น ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงไม่อาจเห็นพ้องด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๗ แล้วจะเห็นได้ว่าการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดมีส่วนเชื่อมโยงกับการฟ้องคดีอาญา โดยมีการบัญญัติให้ระยะเวลาในการยึดอายัดทรัพย์สินเกี่ยวพันกับการฟ้องคดีด้วย โดยกำหนดไว้ว่าหากมีการฟ้องคดีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่ที่มีการยึดอายัด ก็ให้คำสั่งยึดหรืออายัดมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งการฟ้องคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษทางอาญาจะต้องยื่นฟ้องยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา และย่อมหมายถึงศาลยุติธรรม หากตีความถ้อยคำว่าศาลที่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวหมายถึงศาลปกครองก็อาจทำให้การดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเกิดความสับสนและไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะเป็นได้จากกรณีในเรื่องนี้ที่ผู้กระทำผิดขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด แต่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอขยายระยะเวลายึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยออกไปอีก ซึ่งหากความเห็นของศาลทั้งสองขัดกันโดยศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด แต่ศาลอาญาสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอ กรณีจะถือคำสั่งใดเป็นคำสั่งที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากศาลทั้งสองต่างก็มีฐานะเป็นศาลชั้นต้นเช่นเดียวกัน จึงไม่เป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของมาตรา ๒๖๗ ดังนั้นการเพิกถอนคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นกระบวนการต่อเนื่องกับการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้กล่าวโทษผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไว้ตามมาตรา ๒๖๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ร่วมกับบุคคลอื่นทุจริต ยักยอกเงินและหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งอายัดไว้มิใช่ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ แต่เป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนางเสาวลักษณ์ ซึ่งมิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มิได้ร่วมกับบุคคลอื่นทุจริต ยักยอกเงินและหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊สฯ และไม่มีส่วนร่วมหรือดำเนินการใดๆ ในการยักยอกเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีอายัดไว้ แต่เป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนางเสาวลักษณ์ซึ่งมิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี การออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีจึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ทำให้ไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกของนางเสาวลักษณ์ให้แก่ทายาทได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เห็นว่า โดยที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๖๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ประชาชน และสำนักงานมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตน ให้สำนักงานด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ กลต. มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเป็นของบุคคลนั้นได้ แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น และในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของสำนักงานก็ได้ แต่การจะขยายเวลาอีกเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันมิได้ ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้กล่าวโทษผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษในข้อหาความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ อันเป็นกระบวนการป้องกันการยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่มีบทกำหนดโทษจำคุกและปรับซึ่งเป็นโทษทางอาญา และกระบวนการดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่การดำเนินคดีและฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา ดังนั้น การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นกระบวนยุติธรรมทางอาญาในข้อหาความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสนทยา น้อยเจริญ ที่ ๑ นายสนทยา น้อยเจริญ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเสาวลักษณ์ น้อยเจริญ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share