คำวินิจฉัยที่ 14/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๕

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดชลบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชลบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ กระทรวงการคลัง โจทก์ ยื่นฟ้องนางสาวสรวงกนก หรือมนพัทธ์ สอนจิตต์ หรือธนาจิตาภา จำเลย ต่อศาลจังหวัดชลบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๖๑/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามยิงเป้าโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๕ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๓๔๘ ไร่ ๑ งาน ๓๙ ตารางวา อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นที่ราชพัสดุใช้ในราชการกองทัพเรือ เมื่อปี ๒๕๑๗ โจทก์มอบหมายให้กองทัพเรือขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินดังกล่าว กรมที่ดินได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินบริเวณสนามยิงเป้าบางส่วน รวม ๓ แปลง และในปี ๒๕๒๖ กรมธนารักษ์ได้นำที่ดินดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนราชพัสดุหมายเลขทะเบียน ชบ. ๔๖๕ ที่ดินบริเวณนั้นจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แต่ถูกนางประยูรวดี ยุทธศาสตร์โกศล บุกรุกเข้าครอบครองและขอออกโฉนดที่ดินบริเวณสนามยิงเป้า ซึ่งกรมที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒๕ ให้แก่นางประยูรวดีเมื่อปี ๒๔๘๘ และที่ดินตามโฉนดดังกล่าวมีการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยอีกหลายแปลง โดยให้แปลงที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๒๕ เป็นแปลงคงเหลือ เป็นการออกโฉนดที่ดินทับที่ราชพัสดุแปลงที่ ชบ. ๔๖๕ ของโจทก์ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๒๘ จำเลยรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๒๗ ที่แยกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒๕ และเข้าครอบครองก่อสร้างบ้าน สิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินที่รับโอนมาซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สิน บริวาร และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งมีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๒๘ ตารางวา ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒๗ และให้จำเลยและบริวาร ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนโฉนดที่ดินดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์ หากไม่ยินยอมขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ และห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ กับให้ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๒,๕๖๘ บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๒๗ มาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยที่โจทก์ไม่เคยโต้แย้ง ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ที่ดินพิพาทออกโฉนดตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในปี ๒๕๑๗ การมีพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ล้วนเกิดขึ้นภายหลังออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒๗ ทั้งสิ้น การนำที่ดินพิพาทไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดชลบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นหลักที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า สิทธิในที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุสำหรับใช้ในราชการกองทัพเรือหรือเป็นที่ดินของเอกชน ซึ่งศาลต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณีและพยานหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของคู่ความเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องและเหตุแห่งการฟ้องคดีประกอบกับคำขอของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นได้ว่า แม้ว่าโจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนและมีประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยด้วยว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแลและบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ตามที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดหน้าที่ไว้เป็นการเฉพาะตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ และกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ การฟ้องคดีนี้จึงไม่ได้เป็นข้อพิพาทในลักษณะเดียวกับคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชน เพราะโจทก์มิได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเหมือนกรณีการถือกรรมสิทธิ์ของเอกชนทั่วไป แต่เป็นการฟ้องคดีในฐานะที่โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐ และมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้งการที่ที่ดินพิพาทจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ประเภทใด ย่อมเป็นไปตามการจัดระบบที่ดินของรัฐ ฉะนั้นการที่จะวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เป็นกรณีที่จะต้องวินิจฉัยถึงสถานะทางกฎหมาย หรือความมีอยู่ของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งการที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้เนื่องจากการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในการออกโฉนดที่ดิน หรือการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้แก่ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินสาขา หรือเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย ตามมาตรา ๕๗ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคลอันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน และให้จำเลยออกไปจาก ที่ดินพิพาทได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า กรมที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาททับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการฟ้องว่า การออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำขอโดยชัดแจ้งว่าขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นการแก้ไขเยียวยาความเสียหายของโจทก์ และขอให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งว่า กรมที่ดินหรือเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ยื่นฟ้องกรมที่ดินหรือเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยในคดีนี้ แต่กรมที่ดินย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้ ฉะนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลปกครองจึงมีอำนาจเรียกกรมที่ดินหรือเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีด้วยการร้องสอดได้ ตามนัยมาตรา ๓ และมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบข้อ ๗๘ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ และมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง (๓) (ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นอกจากนั้น บทบัญญัติมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอกในหลายกรณี เช่น มาตรา ๗๑ (๑) ในกรณีคำพิพากษาให้บุคคลใดออกไปจากสถานที่ใดให้ใช้บังคับตลอดถึงบริวารของผู้นั้นที่อยู่ในสถานที่นั้นด้วย เว้นแต่ผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิพิเศษอื่น และมาตรา ๗๑ (๔) กรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับสิทธิและทรัพย์สินใด ๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาขับไล่บุคคลได้ รวมถึงวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินโดยนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดได้บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลยุติธรรมที่จะเพิกถอนคำสั่งทางปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนเหมือนดังเช่นที่บัญญัติให้อำนาจศาลปกครองกำหนดคำบังคับเป็นการเฉพาะไว้ในมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีหลังจากที่ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว และเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งที่จะต้องวินิจฉัยก่อนการวินิจฉัยว่าการออกโฉนดที่ดินอันเป็นคำสั่งทางปกครองเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เท่านั้น จึงเป็นประเด็นที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามยิงเป้าโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๕ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๓๔๘ ไร่ ๑ งาน ๓๙ ตารางวา อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นที่ราชพัสดุใช้ในราชการกองทัพเรือ ตามทะเบียนราชพัสดุหมายเลข ชบ. ๔๖๕ แต่ถูกนางประยูรวดี บุกรุกเข้าครอบครองและเมื่อปี ๒๔๘๘ กรมที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒๕ ให้แก่นางประยูรวดี ทับที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว จำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๒๗ ที่แยกมาจาก โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒๕ และเข้าครอบครองก่อสร้างบ้าน สิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินที่รับโอนมาซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สิน บริวาร และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งมีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๒๘ ตารางวา ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒๗ และให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนโฉนดที่ดินดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์ หากไม่ยินยอมขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ และห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ กับให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า จำเลยรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๒๗ มาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยที่โจทก์ไม่เคยโต้แย้ง ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ที่ดินพิพาทออกโฉนดตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในปี ๒๕๑๗ การมีพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ล้วนเกิดขึ้นภายหลังออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒๗ ทั้งสิ้น การนำที่ดินพิพาทไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ นางสาวสรวงกนก หรือมนพัทธ์ สอนจิตต์ หรือ ธนาจิตาภา จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share