คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7203/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินบ้านโดยให้ถ้อยคำยอมรับต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 ได้ที่บ้านโดยรับมรดกจากบิดามารดาประมาณ 15 ปี แล้วครอบครองตลอดมา การออกโฉนดดังกล่าวได้กระทำเปิดเผยตามระเบียบของทางราชการ หลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนชื่อตนเป็นเจ้าของที่ดินบ้านดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของตนซึ่งได้ปลูกบ้านแยกครัวเรือนออกไปอยู่ในแปลงเดียวกันย่อมเป็นเรื่องปกติของผู้เป็นมารดา ยกทรัพย์อันเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทรุ่นถัดไปของตนตามประเพณีนิยมทั่วไปเพราะจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นสิทธิของตน ที่จะได้ทรัพย์มรดกที่ไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความมุ่งหมายที่จะยักย้ายหรือปิดบัง ทรัพย์มรดกโดย ฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น สำหรับที่นาตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 ได้ที่นาโดยรับมรดกการครอบครองต่อเนื่องจากเมื่อ พ.ศ. 2504 รวมเวลาการครอบครองและทำประโยชน์จนถึงวันที่สำรวจ 16 ปี ส่วนที่สวนตามโฉนด ที่ออกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีชื่อผู้มีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ตามโฉนดมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยปกติของการออกโฉนดต้องมีขั้นตอนในการสอบสวนสิทธิและวิธีการต่าง ๆ ตามระเบียบของทางราชการโดยเปิดเผย เช่นนี้จำเลยที่ 1 ต้องเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่นาและที่สวนโดยชอบแล้ว การประกาศขายที่นาและที่สวนนั้นหากผู้ประกาศขายมีความเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ย่อมไม่ใช่ การยักย้ายหรือ ปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่นจำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกจำกัดมิให้ได้มรดก

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำกัดมิให้ได้มรดก ให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้า ให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิครอบครองทางทะเบียนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 754 ให้โจทก์ทั้งห้า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 67349 หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 652 และ 754 ต่อศาลเพื่อโจทก์ทั้งห้าจะขอรับไปโอนสิทธิทางทะเบียนตามคำพิพากษา ห้ามจำเลยทั้งสามพร้อมบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอีกต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้โจทก์ทั้งห้ามีส่วนได้ในทรัพย์มรดกที่ดินพิพาททั้งสามแปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 67349 พร้อมบ้านเลขที่ 33 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 754 และ 652 หรือโฉนดเลขที่ 90207 คนละหนึ่งในเจ็ดส่วน ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้าตามส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดมิให้ได้มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 67349, 90207 และที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 754 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าในโฉนดและ น.ส.3 ก. ดังกล่าวให้มีสิทธิคนละหนึ่งในหกส่วน ห้ามจำเลยที่ 1 เข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาททั้งสามแปลงอีกต่อไป
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเพราะเหตุยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกหรือไม่ โจทก์ทั้งห้ามีพยานเบิกความว่า เมื่อปลายปี 2538 ทายาททั้งหมดได้ขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยที่ 1 ไม่ยอมแบ่งกลับจดทะเบียนโอนที่บ้านให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันด้วยว่า จำเลยที่ 1 ประกาศขายที่นาและที่สวน เห็นว่า สำหรับที่บ้านนั้นตามใบไต่สวน จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาโดยรับมรดกจากบิดามารดา ประมาณ 15 ปี แล้วครอบครองตลอดมา เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบแล้วมีบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้เลขที่ 33 ปลูกมา 15 ปี การที่จำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินบ้านดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำเช่นว่านั้น ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการยอมรับต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 ได้ที่บ้านโดยรับมรดกจากบิดามารดาการออกโฉนดได้กระทำโดยเปิดเผยตามระเบียบของทางราชการ หลังจากที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนชื่อตนเป็นเจ้าของที่บ้านดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของตนซึ่งได้ปลูกบ้านแยกครัวเรือนออกไปอยู่ในที่แปลงเดียวกันนี้ ย่อมเป็นเรื่องปกติของผู้เป็นมารดายกทรัพย์อันเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทรุ่นถัดไปของตนตามประเพณีนิยมทั่วไป เพราะจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นสิทธิของตนที่จะได้ทรัพย์มรดกนี้ไม่มีพฤติกรรมใดที่ส่อให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความมุ่งหมายที่จะยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้ว่าอยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น สำหรับที่นาได้ความตามแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ที่นาโดยรับมรดกการครอบครองต่อเนื่องจากนางนาง สุภะดี (มารดา) เมื่อ พ.ศ. 2504 รวมเวลาการครอบครองและทำประโยชน์จนถึงวันที่สำรวจ 16 ปี ส่วนที่ส่วนตามโฉนดซึ่งออกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งมีชื่อนายจันดาเป็นเจ้าของ แต่ตามโฉนดเลขที่ 90207 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยปกติของการออกโฉนดต้องมีขั้นตอนในการสอบสวนสิทธิและวิธีการต่าง ๆ ตามระเบียบของทางราชการโดยเปิดเผย เช่นนี้จำเลยที่ 1 ต้องเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่นาและที่สวนโดยชอบแล้ว การประกาศขายที่นาและที่สวนนั้น หากผู้ประกาศขายมีความเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินนั้นแล้วก็ย่อมไม่ใช่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกจำกัดมิให้ได้มรดกแต่อย่างใด
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share