คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 117/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากโจทก์และผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2529 โจทก์จึงมีคำสั่งปรับจำเลย ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2535 จำเลยชำระค่าปรับ 106,000บาท แก่โจทก์ ส่วนดอกเบี้ยเนื่องจากการผิดสัญญาประกันไม่ได้ชำระแต่ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่แยกออกจากค่าปรับที่เป็นต้นเงินจึงเป็นหนี้คนละส่วน การที่จำเลยชำระต้นเงินแก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการชำระหนี้บางส่วนที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) เมื่อดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาประกันเป็นดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33(1) โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน2530 ซึ่งนับถึงวันฟ้องเลยกำหนด 5 ปี จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2529 จำเลยมอบอำนาจให้นายสงวน สุขสิล ทำสัญญาประกันตัวนายสุรัตน์ อุทัยวงศ์ศักดิ์ผู้ต้องหา โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 14273 มาเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหาไปจากโจทก์ และสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดของเจ้าพนักงานในวันที่ 30 เมษายน 2529 ที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว หากผิดนัดจำเลยยอมใช้เงินจำนวน 106,000 บาท แก่โจทก์เมื่อถึงกำหนดนัดส่งตัวผู้ต้องหาวันที่ 30 เมษายน 2529 จำเลยผิดนัดไม่ส่งตัวผู้ต้องหา โจทก์จึงมีคำสั่งให้ปรับจำเลยและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระค่าปรับ แต่จำเลยเพิกเฉยจนกระทั่งวันที่ 22 มิถุนายน2535 จำเลยนำเงินจำนวน 106,000 บาท มาชำระค่าปรับแก่โจทก์ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 106,000 บาท นับแต่วันที่ 30เมษายน 2529 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2535 เป็นเวลา 6 ปี 1 เดือน23 วัน เป็นเงิน 48,864 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน 48,864 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยของโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 ปีเศษ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน48,864 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ดังนั้นการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมของโจทก์และผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2529 โจทก์จึงมีคำสั่งปรับจำเลย ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน2535 จำเลยนำค่าปรับจำนวน 106,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยชำระค่าปรับจำนวน 106,000 บาท แก่โจทก์เป็นการชำระเพื่อให้หนี้ตามสัญญาประกันระงับ มิใช่เรื่องรับสภาพหนี้เพราะความรับผิดตามสัญญาประกันได้ระงับลงแต่การนับอายุความในเรื่องดอกเบี้ยของค่าปรับซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นวันนัดส่งตัวผู้ต้องหาไม่สะดุดหยุดลง เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 ปีเศษ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์เป็นจำนวนเงินที่แยกออกจากต้นเงินค่าเบี้ยปรับจำนวน 106,000 บาท ดอกเบี้ยจึงเป็นหนี้คนละส่วนกับต้นเงิน ดังนั้น การที่จำเลยชำระต้นเงินจำนวน 106,000 บาทให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2535 จึงมิใช่เป็นการชำระหนี้บางส่วนที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลย เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาประกันเป็นดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(1) โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน2529 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2530 ซึ่งนับถึงวันฟ้องเลยกำหนด 5 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share