แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันเกิดเหตุพวกของจำเลยทั้งสองมีเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มคนที่เล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่ปากซอยที่เกิดเหตุ ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกที่มีเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าที่จำเลยที่ 2 พกอาวุธปืนไปด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับพวกอีกคนหนึ่งจึงใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มคนที่กำลังเล่นสาดน้ำสงกรานต์หลายนัดเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายและผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กายแล้วพากันหลบหนีไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาใช้อาวุธปืนในการวิวาท จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการในการใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวก อย่างไรก็ตามแม้การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่การจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้นที่จะไปฆ่าผู้อื่น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด อันเป็นเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำตามแต่ละคนและไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วน แต่สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและผู้เสียหายมาก่อน โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า ฉ. มีสาเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและได้แจ้งเหตุทางโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ช่วยเหลือโดยไม่ปรากฏว่าได้ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายและพบ ฉ. จำเลยที่ 1 ก็ถามว่าจะไปไหนกัน ฉ. ตอบว่า “ไปเลียบคลอง” อันแสดงว่าในตอนแรกขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าจะขับรถจักรยานยนต์ไปที่ใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 ไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวกในที่เกิดเหตุจึงมีลักษณะเป็นการตัดสินใจในทันทีทันใด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และให้นับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9458/2550 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง แต่มิได้กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษสองกระทงหลังมาบวกกับกระทงแรกได้ และไม่อาจนับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9458/2550 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ โจทก์มีนายเอกฤทธิ์และนายวันชัยเป็นประจักษ์พยาน โดยนายเอกฤทธิ์เบิกความว่า วันเกิดเหตุมีการเล่นสาดน้ำสงกรานต์บริเวณที่เกิดเหตุ พยานเล่นจนถึงเวลาประมาณ 13 นาฬิกา แล้วเดินเข้าไปในซอย ระหว่างนั้นทราบว่ามีกลุ่มที่เล่นสาดน้ำอยู่หน้าปากซอยทะเลาะกับกลุ่มคนที่ขับรถผ่านถนนหน้าปากซอย ต่อมาเวลาประมาณ 19 นาฬิกา พยานเดินออกมาจากซอยข้ามถนนเลียบคลองทวีวัฒนามีกลุ่มรถจักรยานยนต์ 3 ถึง 4 คัน แล่นมาจากด้านถนนอักษะมุ่งหน้าไปทางถนนเพชรเกษม พยานเดินไปใกล้จะถึงรั้วก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น พยานถูกยิงที่ราวนมด้านขวา เห็นจำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เป็นคนยิงพยาน และนายวันชัยเบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานขายของอยู่ปากซอยที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา เห็นกลุ่มคนเป็นผู้ชายนั่งรถจักรยานยนต์ 5 ถึง 6 คัน แล่นมาจากด้านถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปทางถนนอักษะ แล่นผ่านกลุ่มคนที่เล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่หน้าปากซอยดังกล่าวไปประมาณ 50 เมตร แล้วย้อนกลับมาได้ยินเสียงปัง 3 ครั้ง พยานวิ่งไปอยู่ข้างทางเท้าเห็นผู้ที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ 2 คัน ถืออาวุธปืนคนละกระบอก ยิงปืนไปบริเวณนั้น นอกจากนี้ พันตำรวจโทพงศ์ศักดิ์ พนักงานสอบสวน พยานโจทก์เบิกความประกอบบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน โดยพยานได้สอบปากคำต่อหน้าบิดาและทนายความของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามคำให้การดังกล่าวได้ความว่า ในวันเกิดเหตุเวลา 17.30 นาฬิกา ขณะจำเลยทั้งสองเล่นสาดน้ำสงกรานต์กับพวกอยู่บริเวณแยกคลองบางขวาง ซึ่งเป็นคนละแห่งกับที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า นายฉัตรชัยหรือเอได้แจ้งทางโทรศัพท์ว่ามีเรื่องให้ช่วย จำเลยที่ 1 จึงกลับไปบ้าน ต่อมาจำเลยที่ 2 ก็ขับรถจักรยานยนต์ไปหาจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 จึงขับรถจักรยานยนต์โดยจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปพบนายฉัตรชัยและพวกแล้วพากันไปที่เกิดเหตุ ระหว่างทางจำเลยที่ 2 และนายฉัตรชัยบอกว่าจะไปยิงนายอภิชาตกับพวก เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุนายฉัตรชัยชี้ไปที่กลุ่มวัยรุ่นที่เล่นสงกรานต์และพูดว่า “เนี๊ยะ” ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 ได้ยินเสียงปืนจากจำเลยที่ 2 ที่นั่งซ้อนท้าย 3 ถึง 4 นัด และได้ยินเสียงปืนจากนายฉัตรชัยอีกหลายนัด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป เห็นว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การชั้นสอบสวนต่อหน้าบิดาและทนายความของจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าให้การตามความเป็นจริง และจำเลยที่ 1 นำสืบว่า ระหว่างทางได้ยินนายฉัตรชัยพูดว่าจะไปฆ่าผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ก็ยิงปืนไปยังกลุ่มคนที่นายฉัตรชัยชี้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ช่วงกลางวันในวันเกิดเหตุพวกของจำเลยทั้งสองมีเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มคนที่เล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่ปากซอยที่เกิดเหตุ ต่อมาเวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกที่มีเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 พกอาวุธปืนไปด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับพวกอีกคนหนึ่ง จึงใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มคนที่กำลังเล่นสาดน้ำสงกรานต์หลายนัดเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายและผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กายแล้วพากันหลบหนีไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาใช้อาวุธปืนในการวิวาท จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการในการใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวก ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังนั้น ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามแม้การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่การจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าว จะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้นที่จะไปฆ่าผู้อื่นโดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด อันเป็นเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำตามแต่ละคนและไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วน แต่สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและผู้เสียหายมาก่อน โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า นายฉัตรชัยมีสาเหตุทะเลาะวิวาทกับนายอภิชาติผู้ตายและได้แจ้งเหตุทางโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ช่วยเหลือโดยไม่ปรากฏว่าได้ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายและพบนายฉัตรชัย จำเลยที่ 1 ก็ถามว่าจะไปไหนกัน นายฉัตรชัยตอบว่า “ไปเลียบคลอง” อันแสดงว่าในตอนแรกขณะที่ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าจะขับรถจักรยานยนต์ไปที่ใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 ไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวกในที่เกิดเหตุ จึงมีลักษณะเป็นการตัดสินใจในทันทีทันใด จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 นั้น เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปีเศษ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้ว ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ฎีกาของ จำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหามีและพาอาวุธปืน กับฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นในชั้นพิจารณาของศาล ซึ่งศาลนำคำรับสารภาพดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยลงโทษจำเลยทั้งสองด้วย จึงถือว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และคำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ลดโทษให้จำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืน จึงไม่เหมาะสม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ฎีกาก็ตาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8, ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 23 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี 4 เดือน สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตคงจำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์