คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากโจทก์โดยชำระราคาเพียงบางส่วนจำนวน 300,000 บาท แล้วนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าที่ดินอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายโดยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเพื่อให้ได้ที่ดินกลับคืนเท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาอันมีผลให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกที่รับจำนองที่ดินไว้โดยมีมูลหนี้และโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ จึงต้องจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนอง
การชำระหนี้ระหว่างคู่สัญญาเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 และมาตรา 369 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนองซึ่งโจทก์อาจถูกบังคับจำนองเพื่อให้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนอง โจทก์จะต้องคืนเงินค่าที่ดินจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วจึงจะเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิมที่ถูกต้อง การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการขอให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์โดยติดจำนองและให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองครบถ้วนแล้วได้ แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้ฟ้องแย้งก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ. พ. มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 5753 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 1 เมษายน 2539 และเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดิน ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ลงวันที่ 30 เมษายน 2539 หรือบังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และบังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 8,000,000 บาท ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องอีกต่อไป หากไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมการโอนและนิติกรรมจำนองหรือจำเลยที่ 1 ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าที่ดินจำนวน 4,150,000 บาท และค่าปรับ 8,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันใช้เงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 5753 เลขที่ดิน 621 ตำบลหนองไผ่ อำเภอชุมแพ จังหวัดของแก่น ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเพิกถอนที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 5,000,000 บาท แก่โจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 โดยให้คงนิติกรรมจำนองไว้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางกุหลาบ ทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ทั้งที่จำเลยที่ 1 ไม่ให้การและไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อเลิกสัญญากันคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 ดังนั้นการชำระหนี้ของโจทก์และจำเลยที่ 1 เพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมจึงเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน ตามมาตรา 392 และมาตรา 369 ดังนั้น เมื่อจะวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินแก่โจทก์ ศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้ฟ้องแย้งก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ที่ต้องชำระต่างตอบแทนกัน ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการชำระหนี้ต่างตอบแทนที่สืบเนื่องจากการเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินนี้ที่ดินที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่โจทก์นั้นต้องคืนโดยติดจำนอง ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ที่ได้รับที่ดินคืนมาก็อาจถูกบังคับจำนองเพื่อให้ชำระหนี้ผู้รับจำนองได้ จึงมิใช่ที่ดินที่มีลักษณะที่เป็นอยู่ดังเดิมก่อนที่จะขายให้จำเลยที่ 1 และจะทำให้มีลักษณะดังเดิมได้ก็ด้วยการที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่จำนองเป็นประกันไว้เสียก่อนด้วย ดังนี้ การกลับคืนสู่ฐานะเดิมในอันที่จะให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินที่โจทก์ได้รับไว้แล้วจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ก็ต้องคืนเงินต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ที่จำนองเป็นประกันครบถ้วนแล้วด้วยจึงจะเป็นการชำระหนี้ที่ต้องชำระต่างตอบแทนเพื่อคืนสู่ฐานะเดิมที่ถูกต้อง นอกจากนี้ เมื่อศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่ามีการเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายแล้ว โดยไม่ใช่กรณีมีเหตุเพิกถอนสัญญาซื้อขายแต่อย่างใด ดังนี้ในการชำระหนี้โดยคืนที่ดินแก่โจทก์ย่อมต้องกระทำโดยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับคืนแก่โจทก์มิใช่การเพิกถอนการจดทะเบียนดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาแต่อย่างใด และแม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ตามก็เป็นกรณีขอให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เช่นกัน ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ได้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์โดยติดจำนอง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษานี้เป็นการแสดงเจตนาแทน และให้โจทก์ชำระเงิน 300,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองครบถ้วนเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share