แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นธนาคารประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินอันเป็นธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1มีหน้าที่รับและจ่ายเงิน แต่การลักทรัพย์ที่อยู่ในตู้นิรภัยของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์ที่ 1 เช่าเก็บทรัพย์สินเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมิใช่งานในหน้าที่ของจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4ลักทรัพย์ของโจทก์จึงมิใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ที่ 1 กับ น. เช่าตู้นิรภัยจากจำเลยที่ 1เพื่อใช้เป็นที่เก็บทรัพย์นั้น ทุกครั้งที่โจทก์ที่ 1 กับ น.ภริยาโจทก์ที่ 1 นำทรัพย์ไปเก็บโจทก์ที่ 1 กับ น. มิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เก็บให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็มิได้มีส่วนรู้เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กับ น. นำทรัพย์อะไรไปเก็บไว้บ้างเมื่อโจทก์ที่ 1 กับ น. ต้องการนำทรัพย์ที่เก็บไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลับคืนก็ไปนำกลับมาเองโดยโจทก์ที่ 1 กับ น. เพียงแต่ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 นำกุญแจต้นแบบของธนาคารมาร่วมไขเปิดตู้นิรภัยด้วยเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 มิได้ทำการส่งมอบทรัพย์คืนสัญญาเช่าตู้นิรภัยจึงมิใช่สัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 กับ น. เช่าตู้นิรภัยจากจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่เก็บทรัพย์ แล้วจำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ดูแลกุญแจธนาคารให้ดี ปล่อยให้จำเลยที่ 4นำกุญแจธนาคารไปไขตู้นิรภัยของโจทก์ แล้วลักเอาทรัพย์ที่เก็บไว้ไปทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง คำฟ้องดังกล่าวชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เก็บรักษากุญแจต้นแบบของธนาคารและมีหน้าที่นำกุญแจต้นแบบของธนาคารไปเปิดตู้นิรภัยร่วมกับลูกค้าของธนาคาร เมื่อจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อปล่อยให้จำเลยที่ 4 นำกุญแจต้นแบบของธนาคารไปเปิดตู้นิรภัยเองตามลำพังเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ถือโอกาสลักกุญแจของโจทก์ที่ 1 และ น. มาเปิดตู้นิรภัยลักเอาทรัพย์มีค่าของโจทก์ที่ 1 และ น. ไปได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ต่อโจทก์ทั้งสองด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางนิดา วิบูลสุนทรางกูล นางนิดาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่26 กันยายน 2529 โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิดาตามคำสั่งศาลชั้นต้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขากำแพงเพชรเป็นสาขาหนึ่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งผู้จัดการจำเลยที่ 1 สาขากำแพงเพชร จำเลยที่ 3เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการปิดเปิดตู้นิรภัยภายใต้ความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สาขากำแพงเพชรเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2523 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 และนางนิดาเช่าตู้นิรภัยตู้ที่ 55 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขากำแพงเพชรตกลงค่าเช่าเป็นรายปีปีละ 325 บาท โดยไม่มีกำหนดเวลา จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้บอกเลิกสัญญา โจทก์ที่ 1 กับนางนิดาชำระค่าเช่าตลอดมารวมทั้งปี 2528 ด้วย ตามสัญญาจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมดูแลรักษาตู้นิรภัย เมื่อโจทก์ที่ 1 หรือนางนิดาต้องการจะเปิดตู้นิรภัยจะต้องใช้กุญแจผู้เช่าซึ่งจำเลยที่ 1 มอบให้ผู้เช่ากับกุญแจธนาคารที่อยู่ที่จำเลยที่ 1 อีก 1 ดอก รวมกันจึงจะเปิดตู้นิรภัยได้โดยจะต้องยื่นคำร้องขออนุมัติเปิดตู้นิรภัยจากจำเลยที่ 1 ก่อนโจทก์ที่ 1 และนางนิดาได้เก็บทรัพย์สินต่าง ๆ ในตู้นิรภัยที่เช่าจากจำเลยที่ 1 ตลอดมา ต่อมาระหว่างอายุการเช่าระหว่างวันที่ 25ธันวาคม 2528 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2529 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กล่าวคือ จำเลยที่ 3 ได้ยินยอมมอบกุญแจธนาคารที่จำเลยที่ 3 ครอบครองให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้เข้าไปทำการเปิดตู้นิรภัยโดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้เข้าไปในห้องเก็บตู้นิรภัยและไม่ได้เข้าไปไขลูกกุญแจธนาคารด้วยตนเองเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 กระทำละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1 และนางนิดาโดยนำกุญแจตู้นิรภัยที่ขโมยไปจากโจทก์ที่ 1 และนางนิดา กับกุญแจธนาคารจากจำเลยที่ 3 ไปไขตู้นิรภัยที่โจทก์ที่ 1 และนางนิดาเช่าจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ควบคุมดูแลการเปิดตู้นิรภัยตามหน้าที่ จำเลยที่ 4 ได้ลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 และนางนิดาซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และเก็บรักษาในตู้นิรภัยดังกล่าวไปรวมทั้งสิ้น 21 รายการ รวมเป็นราคา 2,482,180 บาท โจทก์ที่ 1ทราบเหตุละเมิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2529 จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดคืนทรัพย์ทั้งหมดแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ 2,482,180 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จริงแต่มิได้มีวัตถุประสงค์รวมถึงการมีตู้นิรภัยให้เช่าในลักษณะฝากทรัพย์สินเก็บไว้ในตู้นิรภัยโดยมีบำเหน็จ จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กระทำการใด ๆ ด้วยความประมาทเลินเล่อเพราะจำเลยที่ 1 ได้วางระเบียบการปฏิบัติงานอย่างรัดกุม จำเลยที่ 2และที่ 3 มิได้ร่วมกับจำเลยคนหนึ่งคนใดกระทำการใด ๆ ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 1 ด้วยความระมัดระวัง จำเลยที่ 3 มิได้มีหน้าที่ดูแลลูกกุญแจตู้นิรภัยและตู้นิรภัยทั้งหมดเพียงได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกกุญแจเป็นครั้งคราวและมิได้ควบคุมตู้นิรภัย เมื่อวันที่ 12ธันวาคม 2523 โจทก์ที่ 1 และนางนิดาทำสัญญาเช่าตู้นิรภัยกับจำเลยที่ 1 แต่ตามสัญญาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในทรัพย์สินที่นำมาเก็บไว้ในตู้นิรภัย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ไม่มีส่วนร่วมรู้เกี่ยวข้องกับวัตถุที่โจทก์นำมาเก็บหรือนำออกไปจากตู้ที่เช่า ผู้เช่าคือโจทก์ต้องระมัดระวังลูกกุญแจที่ได้รับมอบไปจากจำเลยที่ 1 ไม่ให้สูญหาย จำเลยที่ 4 จะขโมยลูกกุญแจไปจากโจทก์หรือไม่ ไม่ทราบ เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย หากลูกกุญแจที่โจทก์สูญหายจริง โจทก์มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบทันทีตามสัญญาแต่โจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ทรัพย์สินของโจทก์ไม่ได้หายจริงตามฟ้อง คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากโจทก์ตั้งข้อหาว่าฝากทรัพย์ แต่พยานหลักฐานท้ายฟ้องและคำฟ้องเป็นเรื่องเช่าตู้นิรภัย ข้อหาและข้ออ้างเป็นคนละเรื่องกันทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจความประสงค์ของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 2,482,180 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่3 ตุลาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ (แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 186,163 บาท) โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย และให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 สำหรับคำขอที่ขอให้คืนทรัพย์นั้น ศาลวินิจฉัยแล้วว่าเป็นเรื่องละเมิดไม่ใช่เรื่องฝากทรัพย์ และได้กำหนดค่าเสียหาย แล้วจึงไม่สั่งคืนทรัพย์อีก
โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ใช้เงินจำนวน 283,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ร่วมรับผิดใช้เงิน 141,810 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองก่อนปัญหาข้อแรกตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 4 ลักทรัพย์ของโจทก์เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นธนาคารประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินอันเป็นธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1มีหน้าที่รับและจ่ายเงิน แต่การลักทรัพย์ที่อยู่ในตู้นิรภัยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมิใช่งานในหน้าที่ของจำเลยที่ 4การที่จำเลยที่ 4 ลักทรัพย์ของโจทก์จึงมิใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกา
ปัญหาข้อที่สามที่โจทก์ทั้งสองฎีกามีว่า สัญญาเช่าตู้นิรภัยเอกสารหมาย จ.6 เป็นสัญญาฝากทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 1กับนางนิดาเช่าตู้นิรภัยจากจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่เก็บทรัพย์นั้น ทุกครั้งที่โจทก์ที่ 1 กับนางนิดานำทรัพย์ไปเก็บ โจทก์ที่ 1กับนางนิดามิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เก็บให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ก็มิได้มีส่วนรู้เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กับนางนิดานำทรัพย์อะไรไปเก็บไว้บ้าง เมื่อโจทก์ที่ 1 กับนางนิดาต้องการนำทรัพย์ที่เก็บไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลับคืนก็ไปนำกลับมาเอง โดยโจทก์ที่ 1กับนางนิดาเพียงแต่ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 นำกุญแจต้นแบบของธนาคารมาร่วมไขเปิดตู้นิรภัยด้วยเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 มิได้ทำการส่งมอบทรัพย์คืนแต่อย่างใด สัญญาเช่าตู้นิรภัยเอกสารหมาย จ.6จึงมิใช่สัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657
ต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะในข้อกฎหมาย ปัญหาข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 กับนางนิดาเช่าตู้นิรภัยจากจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่เก็บทรัพย์แล้วจำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ดูแลกุญแจธนาคารให้ดีปล่อยให้จำเลยที่ 4 นำกุญแจธนาคารไปไขตู้นิรภัยของโจทก์แล้วลักเอาทรัพย์ที่เก็บไว้ไป ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง คำฟ้องดังกล่าวชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3ในฐานะนายจ้างด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เก็บรักษากุญแจต้นแบบของธนาคาร และมีหน้าที่นำกุญแจต้นแบบของธนาคารไปเปิดตู้นิรภัยร่วมกับลูกค้าของธนาคารเมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อปล่อยให้จำเลยที่ 4 นำกุญแจต้นแบบของธนาคารไปเปิดตู้นิรภัยเองตามลำพัง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 4ถือโอกาสลักกุญแจของโจทก์ที่ 1 และนางนิดามาเปิดตู้นิรภัยลักเอาทรัพย์มีค่าของโจทก์ที่ 1 และนางนิดาไปได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ต่อโจทก์ทั้งสองด้วยและเนื่องจากโจทก์ที่ 1 กับนางนิดามีส่วนประมาททำให้เกิดความเสียหายคราวนี้ด้วย จึงเห็นควรให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นจำนวนหนึ่งในสามของความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด คิดเป็นเงิน 822,175.33 บาท สำหรับจำเลยที่ 4นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนร้ายลักทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 และนางนิดาไปเสียเอง จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเต็มจำนวน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ใช้เงินจำนวน 2,466,526 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ใช้เงินจำนวน 822,175.33 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2