คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4144/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยโฆษณาหมิ่นประมาทผู้เสียหายด้วยข้อความอย่างไรเท่านั้น หาได้บรรยายว่าการโฆษณาข้อความดังกล่าวในฟ้องเป็นการแสดงอย่างเคลือบคลุมว่าได้มีความเสื่อมโทรมเลวทรามหรือผิดร้ายเสียหายในกรมเจ้าท่าโดยไม่แสดงว่าเป็นเรื่องใดข้อใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดในข้อหาตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 2 (4) แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและจำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษานอกไปจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๗, ๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๒, ๕ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธกลับให้การรับสารภาพ ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นจึงจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาหมิ่นประมาท แล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๒(๔), ๕ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ วรรค ๒ จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุกกระทงละ ๓ เดือน ปรับ ๕,๐๐๐ บาท รวม ๕ กระทงจำคุกคนละ๑ ปี ๓ เดือน ปรับ ๒๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้คนละ ๒ ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๒(๔), ๕ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยโฆษณาหมิ่นประมาทพลเรือตรีประกิจผู้เสียหายด้วยข้อความอย่างไรเท่านั้น หาได้บรรยายว่าการโฆษณาข้อความดังกล่าวในฟ้องเป็นการแสดงอย่างเคลือบคลุมว่าได้มีความเสื่อมโทรมเลวทรามหรือผิดร้ายเสียหายในกรมเจ้าท่า โดยไม่แสดงว่าเป็นเรื่องใดข้อใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดในข้อหาตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๒(๔)แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและจำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษานอกไปจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก
พิพากษายืน

Share