แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านพักอาศัยรุกล้ำที่ดินราชพัสดุเขตชานคลองชลประทานโดยละเมิดกฎหมายและคำขอท้ายฟ้องได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มาตรา 23 วรรค 1 ซึ่งเป็นบทความผิดและมาตรา 37 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษกับอ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 มาตรา 17 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2497 ทั้งได้ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำนั้นด้วย เพียงแต่โจทก์มิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2507 มาตรา 12 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ทั้งมิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518 มาตรา 7 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 แล้วบัญญัติความใหม่ขึ้นแทนเท่านั้น ตามความที่บัญญัติขึ้นใหม่ ยังคงเรียกว่ามาตรา 23 และมาตรา 37 อยู่นั่นเองการที่จำเลยกระทำความผิดหลังจากใช้กฎหมายซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แล้วแต่โจทก์มิได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จึงมิทำให้ฟ้องโจทก์ขาดความสมบูรณ์
เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 มาตรา 12 และมีบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มาตรา 37 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518 มาตรา 7 ศาลก็ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ได้ และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำนั้นได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายกล่าวคือ จำเลยปลูกสร้างบ้านพักอาศัยรุกล้ำที่ดินราชพัสดุ เขตชานคลองชลประทานซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายช่างหัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ ไชยานุชิตโดยละเมิดกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๒๓ วรรค ๑, ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗มาตรา ๑๗ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๒๓ วรรค ๑, ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๗ จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงลงโทษปรับ ๕๐ บาท ที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ชลประทานนั้นไม่มีกฎหมายที่โจทก์อ้างให้อำนาจโจทก์ขอ จึงให้ยกคำขอ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย คดีคงมีปัญหา เฉพาะข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๒๓ วรรค ๑, ๓๗ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๗ โดยมิได้อ้างมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวทั้งมิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ด้วยนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษและมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านพักอาศัยรุกล้ำที่ดินราชพัสดุเขตชานคลองชลประทานโดยละเมิดกฎหมายและคำขอท้ายฟ้องได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๒๓ วรรค ๑ ซึ่งเป็นบทความผิดและมาตรา ๓๗ ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษกับอ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๗ ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ ทั้งได้ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำนั้นด้วย เพียงแต่โจทก์มิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๒ ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ ทั้งมิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้วบัญญัติความใหม่ขึ้นแทนเท่านั้นตามความที่บัญญัติขึ้นใหม่ ยังคงเรียกว่ามาตรา ๒๓ และมาตรา ๓๗ อยู่นั่นเองการที่จำเลยกระทำความผิดหลังจากใช้กฎหมายซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แล้ว แต่โจทก์มิได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จึงมิทำให้ฟ้องโจทก์ขาดความสมบูรณ์ เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (แบบที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๒ และมีบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ศาลก็ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ได้ และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำนั้นได้ด้วย
พิพากษายืน