คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6703/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยของจำเลยที่ 1จะชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ใช้อำนาจในฐานะนายจ้างมีคำสั่งอันเนื่องมาจากการสอบสวนตามคำสั่งดังกล่าวให้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ หาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
โจทก์ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเบิกค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคจึงมีอำนาจสั่งให้พักงานโจทก์ไว้ก่อนได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่มีผลกระทบต่อคำสั่งให้พักงานคำสั่งที่ให้พักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนทางวินัยจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงานตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองผู้ว่าการปฏิบัติการ 2 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการในนามจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าการจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตได้ออกคำสั่งโดยมิชอบตั้งจำเลยที่ 3 และที่ 6 ซึ่งมิใช่เป็นพนักงานการประปาส่วนภูมิภาคเป็นประธานกรรมการสอบสวนและกรรมการสอบสวน ร่วมกับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 เพื่อสอบสวนทางวินัยซึ่งกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตในการเบิกค่าเช่าบ้าน ทั้งที่โจทก์ได้เบิกค่าเช่าบ้านถูกต้องตามระเบียบ วันที่ 22 เมษายน 2542 จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ว่าการได้ออกคำสั่งพักงานโจทก์ โดยอาศัยคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนที่ไม่ชอบดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยที่ 1 เพิกถอนคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์ หากไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งเจ็ดให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 2 ของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์กรณีโจทก์ถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการเบิกค่าเช่าบ้านตามคำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ 103/2542 และที่ 124/2542นั้น เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามคำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ 103/2542 และที่ 124/2542 จะชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตามตราบใดที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวยังมิได้ใช้อำนาจในฐานะนายจ้างมีคำสั่งอันเนื่องมาจากการสอบสวนตามคำสั่งดังกล่าวให้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จ ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังมิได้มีความเห็นหรือมีมติว่าโจทก์มีความผิดและมีคำสั่งที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิจากการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 3 ที่โจทก์อ้างในข้อ 3.1 ว่า คำสั่งพักงานเป็นคำสั่งที่กระทบสิทธิของโจทก์ คือโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่มีสิทธิใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งและทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงย่อมถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วนั้น อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง เนื่องจากศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้พักโจทก์ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3.2ของโจทก์พอสรุปได้ว่า คำสั่งให้พักงานโจทก์ของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งให้พักงานโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 มาตรา 23 บัญญัติว่า “ผู้ว่าการมีอำนาจ (1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่งตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างชั้นที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน…” และข้อบังคับการประปาภูมิภาค ว่าด้วยการพักงานการสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนและการจ่ายเงินเดือนของผู้ที่ถูกสั่งพักงาน หรือถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน พ.ศ. 2524ข้อ 4 ระบุว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ปฏิบัติงานผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาเว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ผู้ว่าการจะสั่งให้พักงานหรือสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนก็ได้…” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการเบิกค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคจึงมีอำนาจสั่งให้พักงานโจทก์ไว้ก่อนได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 1จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลกระทบต่อคำสั่งให้พักงาน คำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ 216/2542 ที่ให้พักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนทางวินัยจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

Share