คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6701/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง มีบัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 6 มาตรา 582 ซึ่งมิได้กำหนดว่าการบอกเลิกจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ ส่วนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ว่า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบนั้น ก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา เพียงแต่ให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อเป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าเท่านั้น การบอกเลิกจ้างจึงอาจทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 9 ตุลากคม 2546 จำเลยที่ 2 ได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่วิศวกรอาวุโส ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 28,000 บาท ค่าตำแหน่งตามจำนวนวันที่มาทำงานวันละ 160 บาท หากเดือนใดค่าตำแหน่งไม่ถึง 3,500 บาท จำเลยที่ 2 ตกลงจ่ายให้เดือนละ 3,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2547 จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าไม่ผ่านการทดลองงาน โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2547 เป็นต้นไป โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าตำแหน่ง โจทก์ทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 และไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวม 55 วัน ในส่วนของเงินเดือนโจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 51,333 บาท ในส่วนของค่าตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2547 รวม 41 วัน เป็นเงิน 6,560 บาท รวมสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์มีสิทธิได้รับเป็นเงิน 57,893 บาท แต่จำเลยที่ 2 จ่ายให้เพียง 31,500 บาท คงขาดอีกจำนวน 26,393 บาท ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 28/2547 และให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 26,393 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ตำแหน่งวิศวกรอาวุโส แผนกควบคุมคุณภาพ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 28,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ส่วนค่าตำแหน่งเดือนละ 3,500 บาท ไม่ใช่ค่าจ้าง เป็นเพียงสวัสดิการเพื่อจูงใจในการทำงานโดยมีเงื่อนไขโจทก์จะได้รับค่าตำแหน่งเมื่อมาทำงาน หากวันใดที่โจทก์ขาดงานก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าตำแหน่ง คำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2547 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2547 จำเลยที่ 2 ได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน และค่าตำแหน่ง 3,500 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ออกจากงานในวันดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยที่ 2 อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด (ที่ถูก บริษัทจำกัด) มีนายฮิซามิ มิยาซาวา หรือนายฮิเดฮิโกะ อาคาโอะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ตำแหน่งวิศวกรอาวุโส แผนกตรวจสอบคุณภาพ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 28,000 บาท ค่าตำแหน่งรายวัน วันละ 160 บาท หากเดือนใดมาทำงานแล้วได้ค่าตำแหน่งไม่ถึง 3,500 บาท จำเลยที่ 2 จะจ่ายให้ 3,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างโจทก์ล่วงหน้าในวันที่ 24 มกราคม 2547 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 ต่อมาจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ออกจากงานในวันที่ 31 มกราคม 2547 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงให้โจทก์ทำงานถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ตามที่โจทก์ร้องขอ โดยยืนยันการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน เป็นเงิน 28,000 บาท ค่าตำแหน่ง 3,500 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 6,183.31 บาทและค่าจ้างของวันที่ 16 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2547 จำนวน 14,000 บาท โจทก์ได้ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 เพื่อเรียกให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 มาชี้แจง จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายวิโรจน์ วิชิตวาสุเทพ กรรมการ มาให้ถ้อยคำชี้แจงต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบและบันทึกคำให้การของโจทก์ นายวิโรจน์ วิชิตวาสุเทพ และนายสมชาย เรืองวงศ์วิทยา พยานฝ่ายนายจ้างทั้งรวบรวมพยานเอกสารต่าง ๆ แล้ว มีความเห็นว่า เนื่องจากลูกจ้างผู้ร้องทำงานไม่ครบ 120 วัน ตามมาตรา 118 (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างผู้ร้อง ส่วนเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าตำแหน่ง บริษัทนายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาแล้วเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2547 ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยให้ลูกจ้างออกจากงานไปวันที่ 31 มกราคม 2547 พร้อมทั้งจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ 1 งวด และค่าตำแหน่ง เป็นเงิน 31,500 บาท ให้แก่ลูกจ้างผู้ร้องแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 จึงถือว่าบริษัทนายจ้างปฏิบัติถูกต้อง ลูกจ้างผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าตำแหน่งอีก รายละเอียดปรากฏตามบันทึกสำนวนการสอบสวนของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จล.1 โจทก์ไม่พอใจคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง (สาขาธัญบุรี) ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย….
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า จำเลยที่ 2 บอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า ในการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเอาไว้นั้น มีบัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 มาตรา 582 ซึ่งมิได้กำหนดเอาไว้ว่าการบอกเลิกจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นการบอกเลิกจ้างจึงอาจจะทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ ส่วนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ว่า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ นั้นก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา เพียงแต่ให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อเป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าเท่านั้น โดยจะบอกกล่าวเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ หากบังคับให้ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือเท่านั้นอาจมีผลร้ายต่อการทำงานของลูกจ้างกับนายจ้างอื่นใดในอนาคตได้และเมื่อจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าในวันที่ 24 มกราคม 2547 อันเป็นวันก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในคราววันที่ 25 มกราคม 2547 เพื่อให้มีผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 โดยจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าว จำเลยที่ 2 จึงให้โจทก์ออกจากงานในวันที่ 31 มกราคม 2547 ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสี่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องแก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share