คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7917/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สลักหลังเป็นอาวัลเช็คที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้วส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินบางส่วน ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจึงหาได้ระงับไปไม่โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์และโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความที่ปรากฏในเช็คในฐานะเป็นผู้สลักหลังและให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายด้วยการที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์ หาได้ทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากมูลหนี้ตามเช็คไปด้วยไม่ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์
คำฟ้องโจทก์บรรยายชัดแจ้งว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทจำเลยที่ 1 เป็นผู้สลักหลัง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความที่ปรากฏในเช็คพร้อมดอกเบี้ย โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเฉพาะมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้แก่โจทก์หาได้ทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการที่จักต้องรับผิดชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คไปด้วยไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 420,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 1 ของเดือน และต้องชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่กู้ยืมไปแล้วแต่ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามกำหนด ต่อมาเดือนเมษายน 2541 จำเลยที่ 1 นำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำ ลงวันที่ 30 เมษายน 2541 จำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 1 เป็นผู้สลักหลังเป็นอาวัลมอบโจทก์เพื่อชำระหนี้บางส่วน เมื่อโจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้และชำระเงินตามเช็คแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี 5 เดือน 29 วันเป็นเงิน 157,325 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค (วันที่ 30 มิถุนายน 2541) ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 29,916 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 420,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 มิถุนายน 2542) ต้องไม่เกินจำนวน 157,325 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดตามส่วนที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อแรกว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามเช็คอีกหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สลักหลังเป็นอาวัลเช็คที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้วส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินบางส่วน ต่อมาเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงหาได้ระงับไปไม่ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความที่ปรากฏในเช็คในฐานะเป็นผู้สลักหลังและฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามเนื้อความในเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายด้วย การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 577,325 บาท แก่โจทก์ หาได้ทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากมูลหนี้ตามเช็คไปด้วยไม่ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดแจ้งว่าโจทก์มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้สลักหลัง ส่วนจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความที่ปรากฏในเช็คพร้อมดอกเบี้ย โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเฉพาะมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินหาได้ทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการที่จักต้องรับผิดชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คไปด้วยไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share