คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในสัญญาเช่าเคหะ จำเลยจะต้องชำระเงินค่ากินเปล่างวดที่ 3 ใน วันที่ 1 สิงหาคม 2488 ซึ่งเป็นเวลาที่ พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2)2488 ใช้บังคับอยู่ ต้องพิจารณาว่า จำเลยได้ใช้เคหะเป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ หากจำเลยมิได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่2)2488ก็มิควบคุมถึง
ถ้าหากในเวลาถึงกำหนดชำระเงินกินเปล่างวดที่ 3 การเช่ามิได้ตกอยู่ในควบคุมแห่ง พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2)2488และจำเลยกระทำผิดสัญญาจนโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่อยู่ในฐานะผู้เช่าต่อไป ดังนี้ พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ.2489 ซึ่งออกมาภายหลังย่อมไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่กรณีระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งไม่มีการเช่ากันนั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าเคหะ เพื่อการค้าและผิดสัญญาไม่ชำระเงินกินเปล่า จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญากับโจทก์จริง แต่ต่อสู้ว่ามิได้ผิดสัญญาในเรื่องชำระเงินกินเปล่า ดังนี้จำเลยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบว่าได้ใช้เคหะเป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่

ย่อยาว

ได้ความว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2486 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกจากโจทก์จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินกินเปล่างวดที่ 3 โจทก์ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่า ครบกำหนดคำบอกกล่าวแล้วจำเลยยังคงอยู่ในสถานที่เช่า โจทก์จึงฟ้องขอให้ขับไล่

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้ง 2 ฝ่าย แล้ววินิจฉัยว่า เหตุที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดนัดส่งเงินกินเปล่านั้น มิได้อยู่ในข้อยกเว้นของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน 2489 มาตรา 16 พิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า คดีนี้จะยก พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน2489 มาใช้บังคับไม่ได้ จำต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยได้ประพฤติผิดสัญญา อันโจทก์จะฟ้องขับไล่ได้หรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่

ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ในสัญญาเช่าซึ่งจำเลยจะต้องชำระเงินกินเปล่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2488 อันเป็นเวลาที่ พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2)2488 ใช้บังคับอยู่ ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ควบคุมการเช่าเคหะที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยเช่าเคหะ เพื่อทำการค้าจำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญากับโจทก์จริง แต่มิได้ต่อสู้ว่าเคหะนี้ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้ จำเลยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบว่า ได้ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ คดีต้องฟังว่า เมื่อถึงกำหนดชำระเงินกินเปล่างวดที่ 3 นั้นการเช่ารายนี้หาตกอยู่ในความควบคุมของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2) 2488 ไม่ และเมื่อการเช่ามิได้ตกอยู่ในควบคุมแห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2) 2488หากว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาจนโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วจำเลยก็ไม่อยู่ในฐานะผู้เช่าต่อไป ดังนี้ พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน 2489 ซึ่งออกมาภายหลัง ย่อมไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่กรณีระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งไม่มีการเช่ากันนั้นได้ ประเด็นในคดีนี้คงเหลือแต่ว่า จำเลยได้ผิดสัญญาไม่ชำระเงินกินเปล่า อันเป็นเหตุให้โจทก์เลิกสัญญากับจำเลยได้หรือไม่ ซึ่งคู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ชอบแล้ว

Share