คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยแทงผู้เสียหายก่อน ผู้เสียหายแย่งมีด จำเลยสะบัดหลุด แล้วแทงหน้าท้องผู้เสียหายและดึงปืนไปจากเอวผู้เสียหายและวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน การที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายชักปืนออกก่อนแล้วกระชากลูกเลื่อน จำเลยจึงเข้ากอดปล้ำและแทงหน้าท้องผู้เสียหายเป็นการป้องกัน จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ผู้เสียหายถูกจำเลยใช้มีดพกปลายแหลมยาวประมาณ 1 ฟุต แทงมีบาดแผล 3 แห่ง คือ ที่ชายโครงขวา 2 แผล ขอบเรียบ 5 เซนติเมตร ลึกกล้ามเนื้อขาดเป็นรูปปากฉลาม ที่ด้านหลังซ้ายขอบเรียบ 1 เซนติเมตร แผลลึกที่หัวไหล่ซ้ายขอบเรียบ 1 เซนติเมตร แผลตื้นแพทย์ผู้ตรวจรักษาเบิกความว่า บาดแผลที่ 1 ลึกมากเป็นแผลสำคัญ ถูกกล้ามเนื้อและเส้นเลือด มีอาการเลือดออกมาก ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 7 – 8 วัน ก็ไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ระหว่างรักษาตัวผู้เสียหายว่า ไม่สามารถไปทำนาได้ตามปกติผู้เสียหายไปให้การในชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุ 25 วัน ว่าบาดแผลภายนอกหายแล้วแต่ยังรู้สึกเจ็บข้างในแถวลิ้นปี่กับเอว เชื่อว่าผู้เสียหายมีอาการป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดพกปลายแหลมยาวประมาณ ๑ ฟุตแทงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยมีเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ จำคุก ๒ ปี ๘ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยแทงผู้เสียหายข้างหลังก่อนและผู้เสียหายจับมือแย่งมีด จำเลยสะบัดหลุด จึงสามารถแทงหน้าท้องผู้เสียหายจนล้มลงแล้วจำเลยฉวยโอกาสดึงปืนไปจากเอวผู้เสียหายเพราะเกรงจะถูกผู้เสียหายใช้ปืนทำร้าย การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน การที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายชักปืนออกก่อนแล้วกระชากลูกเลื่อน จำเลยจึงเข้ากอดปล้ำและแทงหน้าท้องผู้เสียหาย เป็นการป้องกันจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้
ส่วนปัญหาที่ว่า ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือไม่นั้นปรากฏจากรายงานชันสูตรบาดแผลผู้เสียหาย เอกสารหมาย ปจ.๑ ว่าผู้เสียหายมีบาดแผล ๓ แห่ง คือที่ชายโครงขวา ๒ แผล ขอบเรียบ ๕ เซนติเมตร ลึกกล้ามเนื้อขาดเป็นรูปปากฉลาม ที่ด้านหลังซ้ายขอบเรียบ ๑ เซนติเมตร แผลลึก ที่หัวไหล่ซ้าย ขอบเรียบ ๑เซนติเมตรแผลตื้นนายจำเรียง เหราปัตย์ แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายเบิกความว่า บาดแผลของผู้เสียหายที่ ๑ ลึกมาก เป็นบาดแผลสำคัญถูกกล้ามเนื้อและเส้นเลือดมีอาการเลือดออกมากผู้เสียหายและนางลำเจียกเบิกความตรงกันว่าผู้เสียหายรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ ๗ – ๘ วันก็ไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ระหว่างรักษาตัวผู้เสียหายว่าไม่สามารถไปทำนาได้ตามปกติผู้เสียหายไปให้การในชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๖ หลังเกิดเหตุ ๒๕ วันว่า บาดแผลภายนอกหายแล้วแต่ยังรู้สึกเจ็บข้างในแถวลิ้นปี่กับเอวจึงมีเหตุผลพอเชื่อได้ว่า ผู้เสียหายมีอาการป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันซึ่งเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share