แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์ตามฟ้องซึ่งสามีโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของสามีตามส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์เรียก ให้แบ่งไม่ได้เพราะมีนิติกรรมขัดอยู่อีกทั้งวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร และโจทก์ขอแบ่งในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา ดังนี้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าทรัพย์สินต่าง ๆ ที่พิพาททั้งหมดเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวให้จำเลยทั้งสามดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินทุกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนกลับมาเป็นชื่อผู้ร้องต่อไป เป็นการยื่นคำร้องสอดเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)ถ้าศาลรับคำร้องอนุญาตให้ผู้ร้องร้องสอดได้ก็จะต้องให้โจทก์จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การแก้ข้อกล่าวหาด้วย และคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งเก้าสำนวนเข้าด้วยกันแล้ว และสั่งว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวขอแบ่งแยกที่ดินและคดีโจทก์ขาดอายุความศาลสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานและให้สืบพยานจำเลยที่ 1 ฉะนั้นหากอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดโดยเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ตามมาตรา 57(1) ดังกล่าวก็อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากสับสนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ได้ อีกทั้งหากผู้ร้องมีสิทธิดังที่กล่าวอ้างในคำร้องสอดก็อาจยกสิทธินั้นยืนยันหรือดำเนินคดีกับโจทก์และจำเลยทั้งสามเป็นคดีต่างหากได้ จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องซึ่งนายวิรัช ชวาลีมาภรณ์ สามีโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิรัชตามส่วน หากการแบ่งทรัพย์ดังกล่าวไม่อาจกระทำได้ก็ให้ประมูลระหว่างกันเองหรือนำออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ได้แบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3681, 3006, 3011 ตำบลคุ้มกระถินอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ให้แก่โจทก์เพื่อนำไปลงชื่อในฐานะผู้จัดการมรดก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสามและสามีโจทก์ได้ที่ดินแปลงพิพาทมาอย่างไรโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ที่ 2แบ่งแยกที่ดินแปลงพิพาท โจทก์เรียกให้แบ่งแยกที่ดินแปลงพิพาทไม่ได้เพราะที่ดินพิพาทมีนิติกรรมขัดอยู่ โดยติดจำนองกับธนาคาร จำเลยที่ 1 และสามีโจทก์ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงพิพาทเพื่อเป็นที่ตั้งโรงงานทอผ้าซึ่งเป็นกิจการร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 1และสามีโจทก์ อันมีลักษณะเป็นการถาวร โจทก์เรียกให้แบ่งแยกที่ดินแปลงพิพาทในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรเพราะการแบ่งแยกที่ดินจะทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้นอกจากนี้อาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1เพียงผู้เดียวและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องโดยนางสาววันเพ็ญ ชวาลีมาภรณ์ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามทั้งเก้าสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)และขอให้พิพากษาว่าทรัพย์สินต่าง ๆ ที่พิพาทกันทั้งหมดเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวให้จำเลยทั้งสามดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินทุกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนกลับมาเป็นชื่อผู้ร้องต่อไปหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามหรือมิฉะนั้นให้จำเลยทั้งสามชดใช้ราคาแทน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ในคำร้องไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมอบอำนาจให้นางสาววันเพ็ญดำเนินคดีแทน และไม่ปรากฏใบมอบอำนาจท้ายคำร้องสอดด้วยว่า มีการมอบอำนาจกันอย่างไร ทนายผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ไม่รับคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิรัชตามส่วนหากโจทก์และจำเลยทั้งสามไม่อาจตกลงแบ่งทรัพย์กันได้ให้ประมูลระหว่างกันเอง หากประมูลกันเองไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วนคำขอนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องทั้งเก้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่พิพาททั้งหมดเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยทั้งสามดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินทุกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนกลับมาเป็นชื่อผู้ร้องต่อไป เป็นการยื่นคำร้องสอดเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) ถ้าศาลรับคำร้องอนุญาตให้ผู้ร้องสอดได้ก็จะต้องให้โจทก์ จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การแก้ข้อกล่าวหาด้วยและคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งเก้าสำนวนเข้าด้วยกันแล้ว และสั่งว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวขอแบ่งแยกที่ดิน และคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน และให้สืบพยานจำเลยที่ 1 ฉะนั้นหากอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดโดยเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)ก็อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากสับสนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ได้ อีกประการหนึ่งหากผู้ร้องมีสิทธิดังที่กล่าวอ้างในคำร้องสอด ก็อาจยกสิทธินั้นยืนยันหรือดำเนินคดีกับโจทก์และจำเลยทั้งสามเป็นคดีต่างหากได้ จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)
พิพากษายืน