คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ภริยามีชู้หรือมีผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว อันเป็นการกระทบกระเทือนไปถึงสิทธิของสามีนั้น มีมาตรา 1505 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะให้สามีมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาและชู้หรือผู้ที่ล่วงเกินนั้นได้สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาของตนในทางชู้สาวโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิของสามีตามมาตรา 420 ไม่ได้
ฟ้องหาว่าจำเลยล่วงเกินภริยาของโจทก์ในทางชู้สาวโดยกอดจูบและร่วมประเวณีแต่ได้ความว่าต่อมาโจทก์กับภริยาได้สมัครใจจดทะเบียนหย่ากันเองเสียแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1505 วรรคแรกแม้กระนั้นก็ยังเป็นเรื่องการล่วงเกินไปในทำนองชู้สาวตามวรรคสองและถึงแม้ว่าภริยาจะได้สมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกิน สามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินได้
แม้จะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว สามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1505 วรรคสองได้
โจทก์รู้หรือควรรู้ว่าจำเลยล่วงเกินภริยาของโจทก์ในทำนองชู้สาวจนพ้นกำหนด 3 เดือนแล้ว จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1509 (ข้อกฎหมาย 3 ข้อแรก วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2514)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางประภาศรีเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันจำเลยเป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า นางประภาศรีเป็นเสมียนใต้บังคับบัญชาของจำเลย ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 15กุมภาพันธ์ 2510 จำเลยได้ล่วงเกินนางประภาศรีในทางชู้สาวโดยกอดจูบและร่วมประเวณีหลายครั้ง โดยปราศจากความยินยอมของนางประภาศรีโจทก์เพิ่งทราบการกระทำของจำเลยหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2510การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงและทำลายจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง ขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทน200,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์อ้างว่ารู้ความจริงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2510 แต่มาฟ้องวันที่ 10 พฤศจิกายน2510 พ้นกำหนด 3 เดือนแล้วสิทธิฟ้องร้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1509 โจทก์กับนางประภาศรีตกลงจดทะเบียนหย่าขาดกันแล้ว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจำเลยไม่เคยล่วงเกินนางประภาศรีในทางชู้สาว ไม่เคยร่วมประเวณีกับนางประภาศรีฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้ชัดว่าโจทก์ทราบการกระทำผิดหรือมูลละเมิดเมื่อใดแน่ ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เพิ่งทราบการที่จำเลยล่วงเกินนางประภาศรีในทางชู้สาวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2510 ศาลอนุญาต

จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องที่เพิ่มเติมว่าโจทก์ทราบมาก่อน วันที่ 20 สิงหาคม 2510 เกิน 3 เดือนแล้ว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องถึงการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์กับนางประภาศรียังเป็นสามีภริยากันอยู่มีอำนาจฟ้องได้โจทก์ฟ้องอ้างเหตุ 2 กรณี คือจำเลยเป็นชู้และล่วงเกินภริยาโจทก์ในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1505 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ จำเลยได้ล่วงเกินภริยาโจทก์ในทางชู้สาวจริง โดยภริยาโจทก์สมัครใจ แต่ถึงขั้นร่วมประเวณีกันยังฟังไม่ได้ คดีโจทก์ไม่เข้ามาตรา 1505 วรรคแรกเพราะมิได้มีคำพิพากษาให้หย่ากันด้วยเหตุภริยามีชู้ และกรณีจะเข้าวรรค 2 จะต้องได้ความว่าภริยามิได้สมัครใจด้วย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 339/2509 แต่คดีนี้ภริยาโจทก์สมัครใจ จึงไม่เข้าวรรค 2 ของมาตรา 1505 อายุความไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 1509 ดังที่จำเลยต่อสู้ แม้กระนั้นการกระทำของจำเลยก็เป็นการละเมิดสิทธิอย่างหนึ่งของโจทก์ ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิจะทำได้ จึงเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อายุความฟ้องร้องมีกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อกรณีไม่เข้ามาตรา 1505 แล้ว ก็จะนำบทบัญญัติว่าด้วยละเมิดตามมาตรา 420 มาปรับแก่คดีไม่ได้ คดีนี้ขาดอายุความตามมาตรา 1509 แล้ว ทั้งโจทก์ฟ้องคดีหลังจากหย่าขาดกับนางประภาศรีแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่สามี ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็รับฟังไม่ได้

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยล่วงเกินนางประภาศรีในทางชู้สาว จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดต่อโจทก์ประเด็นอื่น ๆไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

1. มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทบัญญัติในเรื่องละเมิดธรรมดาทั่วไป คือ ผู้ใดถูกละเมิด ผู้นั้นย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แต่ในกรณีที่ภริยามีชู้หรือมีผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว อันเป็นการกระทบกระเทือนไปถึงสิทธิของสามีนั้น ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1505 คือกรณีต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรานี้ สามีจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาและชู้หรือผู้ที่ล่วงเกินภริยาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ วินิจฉัยว่าสามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนเพราะภริยาถูกล่วงเกินในทางชู้สาวโดยชายอื่นโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิของสามีตามมาตรา 420 ไม่ได้

2. คดีนี้ โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยได้ล่วงเกินนางประภาศรีภริยาโจทก์ในทางชู้สาวโดยกอดจูบและร่วมประเวณีหลายครั้ง และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต่อมาโจทก์กับนางประภาศรีได้สมัครใจจดทะเบียนหย่ากัน กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1505 วรรคแรก เพราะศาลมิได้พิพากษาให้หย่ากันโดยภริยามีชู้ แม้กระนั้นกรณีก็ยังเป็นเรื่องการล่วงเกินไปในทำนองชู้สาว ซึ่งสามีมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินได้ตามวรรค 2 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า แม้ภริยาสมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกินไปในทำนองชู้สาว สามีก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนตามวรรค 2 นี้ได้ เพราะการฟ้องเรียกค่าทดแทนตามวรรค 2 นี้เป็นสิทธิของสามีโดยเฉพาะ ที่จะเป็นผู้ฟ้องเอง ส่วนภริยานั้น หากจะฟ้องชายที่ล่วงเกินตนโดยตนมิได้สมัครใจหรือยินยอม ก็อาจฟ้องได้ตามมาตรา 420 ซึ่งเป็นเรื่องละเมิดธรรมดา แต่ถ้าภริยาสมัครใจหรือยินยอม ก็ไม่เป็นการล่วงเกินตัวภริยาตามมาตรา 420 แต่ย่อมไปกระทบสิทธิของสามีตามมาตรา 1505 วรรค 2 ดังนั้น จึงมีบทบัญญัติวรรค 3 ต่อไป ซึ่งยิ่งเห็นได้ชัดว่า เรื่องภริยาสมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกินนี้ ไม่ทำให้สามีหมดสิทธิที่จะฟ้องผู้ที่ล่วงเกินแต่อย่างใด เว้นแต่สามีจะยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั่นแหละสามีจึงจะถูกตัดสิทธิมิให้ฟ้อง

3. โจทก์หาว่าจำเลยล่วงเกินภริยาโจทก์ในทางชู้สาวในขณะที่โจทก์ยังเป็นสามีนางประภาศรีอยู่ สิทธิในการฟ้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะนั้น แม้โจทก์จะยังไม่ฟ้องเพิ่งมาฟ้องเมื่อได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว สิทธิในการฟ้องก็หาได้หมดสภาพ หรือถูกลบล้างตามไปด้วยไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า แม้จะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วสามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1505 วรรค 2 ได้

ปัญหาเรื่องอายุความตามที่จำเลยยกเป็นข้อตัดฟ้องตลอดมาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 1509 แล้วนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างมาในฟ้อง ตั้งแต่วันที่จดทะเบียนหย่า หรือวันที่โจทก์ยื่นเรื่องราวต่อคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะนับแต่วันใดใน 2 วันนี้ จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องก็พ้นกำหนด 3 เดือน เสียแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1509

พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้องโจทก์

Share