แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ค่าใช้จ่ายในโรงงานที่เรียกว่า ค่าโอเวอร์เฮดชาร์จในการซ่อมแซมรถจักรดีเซล และรถพ่วง แม้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนชนิดหนึ่งและเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงคิดจากผลงานที่ได้รับ ซึ่งหากไม่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็ไม่สามารถทำงานสำเร็จไปได้ก็ตามแต่เมื่อไม่ปรากฏรายละเอียดว่า โจทก์คิดค่าโอเวอร์เฮดชาร์จในแต่ละรายการอย่างใดเพียงใด และมีความจำเป็นเพียงใดที่โจทก์จำเป็นจะต้องใช้จ่ายในแต่ละรายการ โจทก์คงอ้างแต่เพียงบัญชีรายละเอียดของค่าโอเวอร์เฮดชาร์จโดยคิดเป็นอัตราร้อยละเท่านั้นและแม้จำเลยทั้งสองจะไม่นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นก็ตาม แต่โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่โจทก์อ้าง เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นจำนวนแน่นอนได้ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้ตามควรได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกค้นหมายเลขทะเบียน พธ. 00077 หรือ พธ. 80-0077 และเป็นนายจ้างของนายสมศักดิ์ ไม่ทราบนามสกุล ผู้มีหน้าที่ขับรถยต์คันดังกล่าว นายสมศักดิ์ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างฝ่านทางรถไปในเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือและขับขึ้นไปบนทางรถไฟในระยะกระชั้นชิด ทำให้พนักงานรถไฟของโจทก์ไม่สามารถหยุดขบวนรถไฟได้ทันจึงชนรถบรรทุกของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้รถจักรดีเซลซึ่งให้ลากจูงขบวนรถและรถพ่วง 10 คันตกรางทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 786,360.55 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 731,498.55 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแต่มิได้เป็นนายจ้างนายสมศักดิ์ วันเกิดเหตุนายสมศักดิ์มิได้ขับรถด้วยความประมาท แต่เกิดจากโจทก์ละเลยปล่อยให้ทางข้ามอยู่ในลักษณะชำรุด เป็นเหตุให้รถติดและเครื่องดับ ซึ่งนายสถานีก็มองเห็นแต่กลับให้สัญญารถไฟเข้าสถานีเพราะความประมาทเลินเล่อประกอบกับผู้ขับรถไฟขบวน เลขที่ 565 ของโจทก์ประมาทขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่ามิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตามฟ้องและมิได้เป็นนายจ้างนายสมศักดิ์ เหตุที่เกิดขึ้นมิใช่ความประมาทของนายสมศักดิ์ แต่เกิดจากความประมาทของโจทก์และผู้ขับรถไฟของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 438,885.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 25,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องของโจทก์รายการที่ 1ที่ 3 และที่ 5 จากจำเลยทั้งสองเพียงใด โจทก์ฎีกาเป็นประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิคิดค่าเสียหายดังกล่าวสำหรับค่าใช้จ่ายในโรงงานที่เรียกว่า ค่าโอเวอร์เฮดชาร์จและค่าควบคุมจากจำเลยทั้งสองด้วยโดยโจทก์นำสืบว่า ค่าเสียหายของโจทก์ในการซ่อมรถจักรดีเซลและรถพ่วงจำนวน 10 คัน ค่าซ่อมอุปกรณ์สื่อสารและค่ายกรถตกรางตามฟ้องของโจทก์รายการที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 นอกจากจะมีค่าแรงงานและค่าของแล้ว ยังจะต้องมีค่าใช้จ่ายในโรงงานซึ่งเรียกว่าค่าโอเวอร์เฮดชาร์จตามคำสั่งของโจทก์ซึ่งให้คิดเพิ่มขึ้นจากค่าแรงเมื่อเรียกเก็บเงินจากบุคคลภายนอกตามบัญชีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.7และค่าควบคุมอีก 25 เปอร์เซ็นต์ ตามเอกสาร ป.จ.8 เพราะเป็นค่าใช้จ่ายบริหารงานส่วนกลาง ค่าเสียหายในส่วนที่เรียกว่าค่าโอเวอร์เฮดชาร์จนี้ แม้โจทก์จะมีนายไพทูรย์ ศรีวรวิทย์ หัวหน้าแผนกบัญชีโรงงานมักกะสัน และนายอัมพร ถาบเหลือ ผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชีและการเงินของโจทก์มาเบิกความว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนชนิดหนึ่งและเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงคิดจากผลงานที่ได้รับซึ่งหากไม่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็ไม่สามารถทำงานสำเร็จไปได้ก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์คิดว่าโอเวอร์เฮดชาร์จในแต่ละรายการแต่อย่างใดเพียงใด และมีความจำเป็นเพียงใดที่โจทก์จำเป็นจะต้องใช้จ่ายในแต่ละรายการ โจทก์คงอ้างแต่เพียงบัญชีรายละเอียดของค่าโอเวอร์เฮดชาร์จ โดยคิดเป็นอัตราร้อยละ ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.7 เท่านั้น และแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น คงมีแต่จำเลยที่ 1 เท่านั้นซึ่งนำสืบแต่เพียงว่าค่าซ่อมหัวรถจักรและรถตู้สินค้าของโจทก์ไม่เกินสองหมื่นถึงสามหมื่นบาทดังโจทก์ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่โจทก์อ้าง ซึ่งเมื่อได้พิเคราะห์ตามรายการรายละเอียดของโอเวอร์เฮดชาร์จที่โจทก์คิดตามเอกสารดังกล่าวแล้ว เห็นว่าบางรายการถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับ เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นำจำนวนแน่นอนได้ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดให้ตามควรสำหรับค่าเสียหายในส่วนค่าโอเวอร์เฮดชาร์จทั้งหมด เป็นเงิน 100,000 บาท…”
เมื่อได้วินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายรายการอื่นด้วยแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เพิ่มอีก103,376.93 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2523 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.