คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” หมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและผูกพันเฉพาะคู่ความโดยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1033/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ผู้ตายมิได้ถูกฟ้องคดีด้วย แม้ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท แต่ก็ไม่ได้วินิจฉัยว่า ผู้ตายไม่ได้มีส่วนในความประมาท ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายมีส่วนในความประมาทหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คดีนี้ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 783,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 63,000 บาท นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน ต่อคน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 63,000 บาท นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่า คดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ประมาทแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” หมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและผูกพันเฉพาะคู่ความโดยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1033/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ผู้ตายมิได้ถูกฟ้องคดีด้วย แม้ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท แต่ก็ไม่ได้วินิจฉัยว่า ผู้ตายไม่ได้มีส่วนในความประมาท ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายมีส่วนในความประมาทหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คดีนี้ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อต่อไปว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากน้อยเพียงใด การที่ผู้ตายเป็นผู้เยาว์ยังไม่สมควรที่จะขับรถจักรยานยนต์แต่ไม่สนใจในกฎหมายบ้านเมืองและการที่ไม่เคารพและปฏิบัติตามป้ายสัญญาณจราจรโดยเคร่งครัด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเหตุที่รถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับ ผู้ตายมีส่วนประมาท ดังนั้น การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายประมาทไม่น้อยกว่าจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ว่า ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองมีเพียงใด เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share