แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์และจำเลยจะเป็นอิสลามศาสนิกและเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องมรดกอิสลามศาสนิกก็ตาม แต่ถ้ามิใช่เป็น คดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล แล้ว ก็จะนำลัทธิศาสนาอิสลามหรือกฎหมายอิสลามมาใช้บังคับ ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการแบ่งมรดกไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 3แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาสยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 ฉะนั้น ถ้าได้มีการนำวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามลัทธิศาสนาอิสลามมาใช้ในการแบ่งปันทรัพย์มรดก ก็จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติมาตรา 1750ด้วย จึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
แม้จะได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันจริงตามวิธีการแบ่งในลัทธิศาสนาอิสลาม และโจทก์ตกลงยินยอมตามผลการแบ่งปันดังกล่าว แต่บันทึกการแบ่งปันนั้นมีแต่รายการทรัพย์สินไม่มีข้อตกลงใด ๆและไม่มีผู้ใดลงชื่อในบันทึกนั้น เลย ดังนี้ ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1750 วรรค 2 จึงหามีผลสมบูรณ์อันจะบังคับกันระหว่างคู่กรณีได้ไม่ และเมื่อโจทก์กับจำเลยยังครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันตลอดมา ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกด้วยต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 วรรคแรก แล้วทรัพย์พิพาท จึงยังถือว่าครอบครองร่วมกันมาโดยมิได้มีการแบ่งปันตามกฎหมาย โจทก์ย่อมขอให้แบ่งได้ตามมาตรา 1748
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยานายยูนุชเจ้ามรดก มีบุตรหนึ่งคนคือจำเลย ก่อนวายชนม์ นายยูนุชได้รับมรดกจากบิดามารดาของตนร่วมกับพี่น้องคนอื่นอีก ๔ คน เป็นที่ดิน ๓ โฉนด ส่วนของนายยูนุช๒๑ ไร่ ๓ งาน ๓ วาเศษ ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายยูนุชคนละ ๑๐ ไร่เศษ ส่วนของนายยูนุชเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์จำเลยคนละครึ่งเป็นเนื้อที่คนละ ๕ ไร่เศษ เมื่อปี ๒๕๐๕ และ ๒๕๐๖จำเลยโอนที่ดินส่วนของนายยูนุชทั้งสามโฉนดเป็นของจำเลยผู้เดียวโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม และโดยจำเลยปกปิดและแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยอยู่ร่วมกับโจทก์ทำนาทั้งหมดร่วมกันตลอดมาโดยโจทก์เป็นผู้ควบคุมและออกทุนในการทำนา ขอให้พิพากษาให้จำเลยยอมให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินตามฟ้อง๓ ส่วนใน ๔ ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า นายยูนุชวายชนม์เมื่อ ๖ ปีมานี้ นายยูนุชโจทก์และจำเลยเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อนายยูนุชวายชนม์ได้๗ วัน โจทก์จำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินของนายยูนุช โดยเชิญผู้มีตำแหน่งในศาสนาอิสลามมาเป็นประธานและพยานในการแบ่งทรัพย์มรดกผลของการแบ่งจำเลยได้ที่ดินตามฟ้อง ๓ แปลงกับอีก ๑ แปลง โดยจำเลยยอมใช้หนี้ทั้งหมดของนายยูนุชที่มีอยู่ก่อนวายชนม์ โจทก์ได้ส่วนแบ่งเป็นเงินสด ๓,๔๐๐ บาท จำเลยได้ยื่นขอรับมรดกที่ดินทั้งหมด แล้วได้ชำระหนี้ของนายยูนุชจนหมด จำเลยได้ขายที่ดินบางส่วนไปแล้ว การที่จำเลยขอรับมรดกและขายที่ดินดังกล่าวได้กระทำโดยเปิดเผยและโจทก์รู้โจทก์และนายยูนุชแต่งงานกันภายหลังใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ โดยมิได้จดทะเบียนสมรส จึงมิใช่สามีภรรยาตามกฎหมายที่ดินตามฟ้องที่นายยูนุชได้รับมรดกมาจากบิดามารดาจึงมิใช่สินสมรสและมิใช่ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์กับนายยูนุชเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย เมื่อนายยูนุชตาย ได้มีการตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนายยูนุชด้วยวาจา ไม่มีเอกสารเป็นหลักฐาน ถือได้ว่าเป็นการแบ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๐ วรรคแรกโอนหักหนี้ผู้ตายแล้วโจทก์ไม่ได้อะไร เมื่อได้มีการตกลงแบ่งปันที่ดินมรดกดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็หมดสิทธิที่จะได้รับที่ดินอันเป็นส่วนมรดกอีกต่อไป ที่ดินตามฟ้องเฉพาะส่วนของนายยูนุชเป็นสินสมรสเป็นของโจทก์ครึ่งหนึ่งตามมาตรา ๑๕๑๗ โดยไม่ตกเป็นทรัพย์มรดกซึ่งจำเลยรับโอนไปโดยไม่สุจริต ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เป็นมรดก จำเลยรับโอนมาโดยสุจริต พิพากษาให้ที่พิพาทส่วนของนายยูนุชเป็นของโจทก์จำเลยฝ่ายละครึ่ง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จะต้องแบ่งกันระหว่างโจทก์จำเลย แต่ที่พิพาทเป็นสินสมรส จึงแบ่งระหว่างโจทก์กับผู้ตายฝ่ายละครึ่ง ส่วนของผู้ตายเป็นมรดกได้แก่โจทก์จำเลยฝ่ายละครึ่ง โจทก์จึงได้ที่พิพาท ๓ ส่วน และจำเลยได้ ๑ ส่วนพิพากษาแก้ ให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย โดยเป็นของโจทก์๓ ส่วน ของจำเลย ๑ ส่วน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ว่านายยูนุชกับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจึงมีปัญหาว่า ได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๐ แล้วหรือไม่แล้ววินิจฉัยว่าแม้โจทก์และจำเลยในคดีนี้จะเป็นอิสลามศาสนิกและคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องมรดกอิสลามศาสนิกก็ตามแต่ก็มิใช่เป็นคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลจึงจะนำลัทธิศาสนาอิสลามหรือกฎหมายอิสลามมาใช้บังคับในการแบ่งปันทรัพย์มรดกรายนี้แทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการแบ่งมรดกไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยเหตุนี้จึงเห็นว่า ถ้าได้มีการนำวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามลัทธิศาสนาอิสลามมาใช้ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกรายนี้ การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นก็จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติ มาตรา ๑๗๕๐ ด้วยจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฉะนั้น สำหรับคดีนี้ แม้จะฟังว่าได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันจริงตามวิธีการแบ่งในลัทธิศาสนาอิสลามโดยโจทก์ได้ตกลงยินยอมตามผลการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังที่จำเลยนำสืบก็ตาม แต่เนื่องจากปรากฏว่า บันทึกการแบ่งทรัพย์อันเป็นเอกสารที่จำเลยอ้างมานั้น มีข้อความแต่เฉพาะรายการทรัพย์สินเท่านั้นไม่มีข้อตกลงใด ๆ และไม่มีผู้ใดลงชื่อในบันทึกนั้นเลย การแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๕๐ วรรค ๒ การแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงหามีผลสมบูรณ์อันจะบังคับกันระหว่างคู่กรณีได้ไม่ หลังจากนายยูนุชตายแล้วโจทก์และจำเลยยังอยู่ร่วมบ้านกัน และยังคงครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันตลอดมาโดยมิได้มีการเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา ๑๗๕๐ วรรคแรก ทรัพย์พิพาทจึงยังมิได้มีการแบ่งปันกันตามกฎหมาย โจทก์ย่อมขอให้แบ่งได้ตามมาตรา ๑๗๔๘ ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรส ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ายังมิได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกและทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรส โดยให้โจทก์ได้ส่วนแบ่ง ๓ ส่วน และจำเลยได้ ๑ ส่วน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เฉพาะที่เกี่ยวกับโฉนดเลขที่ ๑๕๐ ให้โจทก์ได้ส่วนแบ่ง ๓ ส่วน แต่คิดเป็นเนื้อที่ไม่เกิน ๒ ไร่ ๑ งาน ๓๓ วาเพื่อไม่ให้เกินคำขอตามเนื้อที่ที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้อง