แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยทั้งสองจะมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองรู้เห็นหรือคบคิดกับพวกของจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้มีและพาอาวุธปืนมายิงผู้เสียหาย การที่พวกของจำเลยทั้งสองใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำของพวกจำเลยทั้งสองโดยลำพังในขณะนั้นเอง ไม่อาจอนุมานได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมมีและพาอาวุธปืน และฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมมีและพาอาวุธปืนและไม่มีเจตนาร่วมในความผิดฐานพยายามฆ่า ดังนั้น แม้พวกจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าอันถือได้ว่ามีการทำร้ายร่างกายรวมอยู่ในการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดในผลของการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำคนละเจตนาและเกินขอบเขตเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่มีร่วมกันมาตั้งแต่ต้น จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่บรรยายมาในคำฟ้องว่า มีการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและผู้เสียหายได้รับอันตรายจากการทำร้ายร่างกายหรือไม่อย่างไร คงบรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง กระสุนปืนถูกผู้เสียหาย ทำให้ได้รับอันตรายสาหัส ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกใช้ขวดขว้างผู้เสียหายก็ตาม ศาลก็ไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาลงโทษจำเลยที่ 1ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวไว้ในฟ้อง ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ แม้ปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 1 จะไม่ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ปัญหาข้อนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ให้ได้รับผลดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกาได้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5766/2553 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 1 และเรียกนายสุรศักดิ์ จำเลยในสำนวนดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คงขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยผิดกฎหมาย และร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าจำเลยทั้งสองกับพวกลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะแพทย์รักษาผู้เสียหายไว้ทันท่วงที ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และฐานร่วมกันพยายามฆ่า เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่า ถึงแม้จำเลยทั้งสองจะมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองรู้เห็นหรือคบคิดกับพวกของจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้มีและพาอาวุธปืนมายิงผู้เสียหาย การที่พวกของจำเลยทั้งสองใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำของพวกจำเลยทั้งสองโดยลำพังในขณะนั้นเอง ไม่อาจอนุมานได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมมีและพาอาวุธปืน และฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานร่วมมีและพาอาวุธปืนและไม่มีเจตนาร่วมในความผิดฐานพยายามฆ่า ดังนั้นแม้พวกจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าอันถือได้ว่ามีการทำร้ายร่างกายรวมอยู่ในการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดในผลของการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำคนละเจตนาและเกินขอบเขตเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่มีร่วมกันมาตั้งแต่ต้น จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่บรรยายมาในคำฟ้องว่า มีการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและผู้เสียหายได้รับอันตรายจากการทำร้ายร่างกายหรือไม่อย่างไร คงบรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง กระสุนปืนถูกผู้เสียหาย ทำให้ได้รับอันตรายสาหัส ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1กับพวกใช้ขวดขว้างผู้เสียหายก็ตาม ศาลก็ไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวไว้ในฟ้อง ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1โดยเอาการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่ามาลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย แม้ปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 1 จะไม่ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง และปัญหาข้อนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 (จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5766/2553 ของศาลชั้นต้น) ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ให้ได้รับผลดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกาได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7