แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจทำการสืบสวนทราบว่า ในช่วงเวลาใกล้กับเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองกับพวกนั่งอยู่ที่บริเวณหน้าบ้านเกิดเหตุ จึงสืบหาที่พักของจำเลยที่ 1 และนำจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน มาสอบถามเหตุการณ์ว่ารู้เห็นเรื่องปล้นทรัพย์หรือไม่ จำเลยทั้งสองกับพวกยอมรับว่าพวกตนเป็นคนร้าย ตามบันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำ จากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกพาเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลางที่ข้างหลังที่พักของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกการตรวจยึด การให้ถ้อยคำของจำเลยทั้งสองรวมทั้งการนำเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลาง เชื่อว่าเกิดจากความสมัครใจของจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจตามบันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำ เป็นการกระทำก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นผู้ต้องหา ซึ่งในกรณีที่มีความผิดอาญาเกิดขึ้นย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานในการหาตัวคนร้าย การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงหาใช่เป็นการให้ถ้อยคำในฐานะผู้ถูกจับไม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสองก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย และสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 92, 93, 340 วรรคสอง, วรรคสาม, 371 ริบอาวุธมีดและบันไดอะลูมิเนียมของกลาง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 500 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย และเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, วรรคสาม, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 16 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 90 บาท เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) เป็นจำคุกฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คนละ 24 ปี เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นปรับฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่เหตุสมควรคนละ 120 บาท รวมจำคุกคนละ 24 ปี และปรับคนละ 120 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 18 ปี และปรับคนละ 90 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบอาวุธมีดและบันไดอะลูมิเนียมของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบอาวุธมีดของกลาง คืนบันไดอะลูมิเนียมของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่ผู้เสียหายพักผ่อนนอนหลับอยู่คนละห้องกับนายมลทินหรือโอ สามีผู้เสียหาย อยู่ในบ้านเกิดเหตุ มีคนร้าย 2 คน ปีนเข้าไปในบ้าน ส่วนคนร้ายอีก 2 คน รอดูต้นทางอยู่ข้างนอกบ้าน จากนั้นคนร้าย 2 คน ที่เข้าไปในบ้านร่วมกันใช้อาวุธมีดปลายแหลมทำร้ายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส แล้วร่วมกันปล้นทรัพย์ เงินสดชนิดต่าง ๆ จำนวน 500 บาท กล่องพลาสติกใส่ยาสระผม 30 ซอง ราคา 150 บาท รวมราคาทรัพย์ 650 บาท ของผู้เสียหายไป
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน และผู้เสียหายกับนายมลทินสามีผู้เสียหายซึ่งอยู่ในบ้านเกิดเหตุจะไม่สามารถจำคนร้าย 2 คน ที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุได้ แต่ได้ความจากคำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจผู้สืบสวนจับกุมจำเลยทั้งสองว่า หลังจากเกิดเหตุพยานกับพวกทำการสืบสวนทราบว่า ในช่วงเวลาใกล้กับเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสองกับพวกรวม 2 คน นั่งอยู่ที่บริเวณหน้าบ้านเกิดเหตุ และทราบข้อมูลว่ามีเพื่อนของจำเลยที่ 1 ประมาณ 2 ถึง 3 คน มาอยู่กับจำเลยที่ 1 โดยไปไหนมาไหนด้วยกันเป็นกลุ่ม จึงสืบหาที่พักของจำเลยที่ 1 และนำตัวจำเลยทั้งสองพร้อมกับนายทิชานนท์หรือน็อต และนายวุฒินันท์หรือตูน มาสอบถามเหตุการณ์ว่ารู้เห็นเรื่องปล้นทรัพย์หรือไม่ จำเลยทั้งสองและนายทิชานนท์กับนายวุฒินันท์ยอมรับว่า พวกตนเป็นคนร้าย จากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกพาพยานไปเอาของกลางที่ข้างหลังที่พักของจำเลยที่ 1 เช่น อาวุธมีดที่ใช้ทำร้ายผู้เสียหาย 1 เล่ม กล่องพลาสติกใส่ยาสระผมของผู้เสียหาย และเหรียญกษาปณ์ชนิดต่าง ๆ ของผู้เสียหาย การให้ถ้อยคำของจำเลยทั้งสองรวมทั้งการนำเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลาง เป็นการกระทำก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นผู้ต้องหา เชื่อว่าเกิดจากความสมัครใจของจำเลยทั้งสอง อีกทั้งตามภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่า อาวุธมีดของกลางและกล่องพลาสติกใส่ยาสระผมของผู้เสียหายถูกซุกซ่อนอยู่ในป่าหญ้าด้านหลังบ้านของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ให้ถ้อยคำโดยสมัครใจและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลาง ย่อมยากแก่การที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถตรวจค้นและยึดของกลางได้ในระยะเวลาไม่นานหลังจากเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงเหล่านี้บ่งชี้ว่า คนร้ายก็คือจำเลยทั้งสองกับพวกนั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจบันทึกถ้อยคำของจำเลยทั้งสองยังไม่มีการแจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสอง ถ้อยคำจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองไม่ได้นั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เป็นการกระทำก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นผู้ต้องหา ซึ่งในกรณีที่มีความผิดอาญาเกิดขึ้นย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานในการหาตัวคนร้าย การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจจึงหาใช่เป็นการให้ถ้อยคำให้ฐานะผู้ถูกจับไม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสองก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย และสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามในบันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำมีการระบุว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบว่าถ้อยคำอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันตัวจำเลยทั้งสองในการพิจารณาคดีได้ แต่จำเลยทั้งสองขอให้การด้วยความเต็มใจ ซึ่งสนับสนุนให้เห็นว่าเป็นการให้ถ้อยคำโดยสมัครใจของจำเลยทั้งสองตั้งแต่แรก หลังจากนั้นจึงมีการออกหมายจับจำเลยทั้งสอง และมีการจับกุมจำเลยทั้งสองและนายทิชานนท์กับนายวุฒินันท์ ซึ่งในบันทึกระบุว่ามีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายแก่จำเลยทั้งสองกับพวกแล้ว ครั้นในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง และมีการสอบคำให้การของจำเลยทั้งสอง แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองจะให้การปฏิเสธ แต่ก็ให้การถึงรายละเอียดที่จำเลยทั้งสองร่วมรู้เห็นกับนายทิชานนท์และนายวุฒินันท์ในการจะปีนขึ้นบ้านเกิดเหตุ โดยมีการสอบถามกันว่าใครจะเป็นคนปีน เมื่อนายทิชานนท์และนายวุฒินันท์รับจะเป็นคนปีน ก็ให้จำเลยทั้งสองรออยู่ข้างล่างบ้านเกิดเหตุ จนกระทั่งเมื่อนายทิชานนท์และนายวุฒินันท์กลับออกมาจากบ้านเกิดเหตุก็ถืออาวุธมีดของกลางและกล่องพลาสติกใส่ยาสระผมของผู้เสียหายมาที่บ้านของจำเลยที่ 1 แล้วมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าเปื้อนเลือดไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการเจือสมพยานหลักฐานโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองแสดงว่าจำเลยทั้งสองสมคบเป็นตัวการด้วยในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ความผิดฐานดังกล่าว มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ แต่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ทั้งหมดของจำเลยทั้งสองรวมถึงความผิดฐานนี้ด้วย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยความผิดฐานดังกล่าวและพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 พ้นโทษในความผิดฐานพยายามลักทรัพย์และลักทรัพย์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6877/2544 และ 7083/2545 ของศาลชั้นต้น และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2602/2546 ของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 2 พ้นโทษในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 11505/2545 ของศาลชั้นต้น ไปก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองได้ แม้ปัญหาข้อนี้จะไม่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ให้บังคับคดีโทษจำเลยทั้งสองฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดทั้งสองฐาน เมื่อรวมโทษทั้งสองฐานหลังจากลดโทษหนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 12 ปี และปรับคนละ 67.50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์