แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีขอให้ริบทรัพย์สินซึ่งใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 นั้นอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “…และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” แต่ผู้คัดค้านฎีกาไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง โดยไม่ได้ยื่นคำขอภายในกำหนดดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องนายวิสุทธิ์ และนายอมรรัช เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 925/2552 ของศาลชั้นต้น ข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และยึดรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขธพ สุพรรณบุรี 421 โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโซนี่อิริคสัน อย่างละ 1 เครื่อง ซึ่งใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์ดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้ให้นายอมรรัช จำเลย เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ในราคา 64,100 บาท นายอมรรัชผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านหลายครั้ง แต่ไม่ตรงตามสัญญา ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2552 รวมเป็นเงิน 7,480 บาท ภายหลังทราบว่านายอมรรัชถูกจับในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อถูกยึดเป็นของกลาง ผู้คัดค้านจึงบอกเลิกสัญญา ผู้คัดค้านไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้นายอมรรัชนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง คืนรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขธพ สุพรรณบุรี 421 ของกลางแก่ผู้คัดค้าน คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย ของกลาง แก่นายวิสุทธิ์ และคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโซนี่อิริคสันของกลาง แก่นายอมรรัช ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ริบรถถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขธพ สุพรรณบุรี 421 โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียและโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโซนี่อิริคสัน ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของผู้คัดค้าน