คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 4 ด้วย แล้วพิพากษาแก้เฉพาะในส่วนการริบของกลาง เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในส่วนความผิดและโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคดีขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิยื่นฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเฮโรอีน โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถยนต์กระบะของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) และลดโทษให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตลอดชีวิต ริบเฮโรอีนของกลาง คำขออื่นให้ยก คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถยนต์กระบะของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 แต่มิได้ระบุว่าให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 4 ด้วย
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์กระบะและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 มีสิทธิยื่นฎีกาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ถือว่าคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เฉพาะในส่วนการริบของกลาง เท่ากับพิพากษายืนในส่วนความผิดและโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคดีขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิยื่นฎีกา ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 4 มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 4

Share