แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายอันเกิดจากการพักงานซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้มีการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้จ่ายค่าเสียหายอันเกิดจากคำสั่งพักงาน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องและโจทก์ที่ 1 และที่ 6 แก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 67,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นพนักงานขับรถของจำเลย โดยรับค่าตอบแทน 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นเงินเดือนอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเที่ยวซึ่งจำเลยจะจ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดต่อเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดขับรถและจ่ายให้ตามระยะทางที่โจทก์ทั้งเจ็ดขับรถไปส่งสินค้า ในระหว่างทำงานจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งเจ็ดชั่วคราว วันรุ่งขึ้นโจทก์ทั้งเจ็ดไปร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อ้างว่าการกระทำของจำเลยที่พักงานโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมขอให้มีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานตามปกติ โดยมิได้ขอค่าเสียหายด้วยตามคำร้อง คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งว่า การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งเจ็ดหยุดงานชั่วคราวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งหยุดงานชั่วคราวและมอบหมายให้โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานในหน้าที่ขับรถส่งสินค้าเช่นที่เคยปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยจึงมีคำสั่งแจ้งให้โจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานตามคำสั่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดว่า การที่โจทก์ทั้งเจ็ดมิได้ขอค่าเสียหายในระหว่างถูกสั่งพักงานในคำร้องที่กล่าวหาจำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41 (4) ระบุว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องตามมาตรา 125 ว่ามีการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ และในกรณีที่คณะกรรมการการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จะสามารถนำไปฟ้องศาลแรงงานได้ ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทที่จะฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้ จึงต้องเป็นประเด็นที่ได้มีการพิจารณา และวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดไปร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อขอให้มีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานและมีคำขอเพียงให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักงาน และมีคำสั่งให้รับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานตามปกติเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยมีคำสั่งว่า จำเลยให้โจทก์ทั้งเจ็ดหยุดงานชั่วคราวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งหยุดงานชั่วคราวและให้โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานในหน้าที่เดิมต่อไป ประเด็นข้อพิพาทที่จะฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้จึงมีเพียงประเด็นว่าคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ เท่านั้น การที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายอันเกิดจากคำสั่งพักงาน ซึ่งเป็นการกระทำไม่เป็นธรรมนั้น จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ได้มีการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่อาจฟ้องคดีขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายอันเกิดจากคำสั่งพักงานได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดข้ออื่นนั้นไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน