คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12037/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 19 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการคำนวณระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นับวันหยุด วันลา วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง และวันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง รวมเป็นระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างด้วย ซึ่งวันหยุดและวันลาดังกล่าวตามมาตรา 5 ให้คำจำกัดความว่า วันหยุด หมายความว่า วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี วันลา หมายความว่า วันที่ลูกจ้างลาป่วย ลาเพื่อทำหมัน ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ลาเพื่อรับราชการทหาร ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ ความสามารถ หรือลาเพื่อคลอดบุตร จึงเห็นได้ว่า การที่โจทก์ขาดงานไปโดยมิได้ลา ทั้งมิใช่วันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จึงไม่อาจนำเวลาที่ขาดงาน ซึ่งนายจ้างไม่ได้ประโยชน์จากการทำงานของลูกจ้างมารวมเป็นระยะเวลาทำงานของลูกจ้างได้ เมื่อโจทก์ขาดงานไปโดยมิได้ลาให้ถูกต้องตามระเบียบ โจทก์จึงไม่ได้ทำงานติดต่อครบสามปีที่จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันแต่อย่างใด เพียงแต่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 115/2548 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ของจำเลยที่ 2 และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย 68,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 115/2548 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยส่วนที่เหลือจำนวน 68,099.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการเดียวว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรีที่ 115/2548 ที่วินิจฉัยว่าในระหว่างทำงานโจทก์ขาดงานไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2548 จึงไม่นับวันดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาทำงานติดต่อกัน เพื่อคำนวณค่าชดเชยนั้นชอบหรือไม่โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 แต่ในระหว่างทำงาน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2548 โจทก์ได้ขาดงานโดยมิได้ยื่นใบลาหรือแจ้งเหตุขัดข้องและได้ยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินค่าจ้างของวันที่ขาดงานและยอมให้บันทึกการขาดในประวัติการทำงานของโจทก์ด้วย เมื่อโจทก์ขาดงานจึงไม่นับวันที่ขาดงานเข้าในระยะเวลาทำงาน โจทก์จึงมิได้ทำงานติดต่อกันครบสามปีไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพิ่มตามฟ้อง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถูกต้องแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 บัญญัติว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้…(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน…” และมาตรา 19 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการคำนวณระยะเวลาการทำงานลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นับวันหยุด วันลา วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง และวันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง รวมเป็นระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างด้วย” ซึ่งวันหยุดและวันลาดังกล่าวตาม มาตรา 5 ให้คำจำกัดความว่า “วันหยุด” หมายความว่า วันที่กำหนด ให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี “วันลา” หมายความว่า วันที่ลูกจ้างป่วย ลาเพื่อทำหมัน ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ลาเพื่อรับราชการทหาร ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ หรือลาเพื่อคลอดบุตร จึงเห็นได้ว่าการที่โจทก์ขาดงานไปในวันที่ 3 มกราคม 2548 โดยวันดังกล่าวมิใช่วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณีหรือหยุดพักผ่อนประจำปี และโจทก์ขาดงานไปโดยมิได้ลา ทั้งมิใช่วันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จึงไม่อาจนำเวลาที่ขาดงาน ซึ่งนายจ้างไม่ได้ประโยชน์จากการทำงานของลูกจ้างมารวมเป็นระยะเวลาทำงานของลูกจ้างได้ เมื่อโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 และถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 โดยระหว่างการทำงานเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2548 โจทก์ได้ขาดงานไปโดยมิได้ลาให้ถูกต้องระเบียบ โจทก์จึงมิได้ทำงานติดต่อกันครบสามปี ที่จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันแต่อย่างใด เพียงแต่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (2) เท่านั้น คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรีที่ 115/2548 เรื่องค่าชดเชย จึงวินิจฉัยไว้ชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share