คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5250/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำตั๋วแลกเงินของบริษัท น. ที่สั่งจ่ายแก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับอาวัลแก่โจทก์จำนวน 4 ฉบับ ไปไถ่ถอนคืนจากจำเลยที่ 5 ก่อนครบกำหนดอ้างว่าขอรับเป็นเงินสด แต่จำเลยที่ 5 ไม่มีเงินสด จำเลยที่ 5 จึงออกตั๋วแลกเงินตามฟ้องจำนวน 4 ฉบับ ให้แทน หลังจากนั้น 4 วัน จำเลยที่ 5 ถูกระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เคยไถ่ถอนก่อนครบกำหนดใช้เงินมาก่อนครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการไถ่ถอนก่อนกำหนดเป็นประเพณีการค้าปกติ การเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินตามฟ้องเป็นผลให้มีเพียงจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โดยบริษัท น. ซึ่งต้องร่วมรับผิดด้วยแต่เดิมหลุดพ้นความรับผิดไป ทั้งเป็นการเร่งรีบออกตั๋วแลกเงินตามฟ้องให้ใหม่ โดยพฤติการณ์เสมือนหนึ่งว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในถึงเรื่องที่จำเลยที่ 5 จะต้องถูกทางการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ และทางการจะให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 5 โดยออกมาตรการให้นำตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นของสถาบันการเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งหากยังคงเป็นตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ เดิมซึ่งเป็นของบริษัท น. อยู่ โจทก์ก็ไม่อาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้ และดอกเบี้ยที่คิดรวมให้ในตั๋วแลกเงินตามฟ้องก็นำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่าเป็นอัตราตามตลาดเงิน กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้รับแลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินตามฟ้องเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันดำเนินการเพื่อให้จำเลยที่ 4 ออกบัตรเงินฝากตามคำขอแลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินให้แก่โจทก์ และหรือให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 4 ออกบัตรเงินฝากและให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันเงินฝากให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินฝาก 42,760,000 บาท โดยให้บัตรเงินฝากดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป และมีสิทธิจะได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฝากเป็นต้นไป หากจำเลยทั้งหกไม่สามารถออกบัตรเงินฝากให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 42,760,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 42,760,000 บาท นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย จำเลยที่ 1 สั่งให้บริษัทเงินทุน 16 บริษัท ระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขฐานะการเงิน จำเลยที่ 5 ออกตั๋วแลกเงินให้โจทก์ 4 ฉบับ ตามฟ้อง โดยออกเมื่อ 1 สิงหาคม 2540 ถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้สั่งจ่าย สั่งจำเลยที่ 5 ผู้จ่าย ให้ใช้เงินฉบับละ 10,690,000 บาท แก่โจทก์ ผู้รับเงิน โดยจำเลยที่ 5 ยังได้รับรองจ่ายไม่มีเงื่อนไข ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งให้บริษัทเงินทุนอีก 42 บริษัท ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 5 ระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวจนกว่าบริษัทจะแก้ไขฐานะและการดำเนินงานสำเร็จตามแนวนโยบายของทางการ โดยการให้แต่ละบริษัทจัดทำและเสนอแผนการฟื้นฟูกิจการต่อทางการเพื่อให้ความเห็นชอบ รวมเป็น 58 บริษัท วันเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรื่อง มาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ตามแถลงการณ์นี้ระบุไว้ด้วยว่า เจ้าหนี้ที่สุจริตจะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับผู้ฝากเงิน โดยจะได้รับสิทธิในการแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วเงินหรือบัตรเงินฝากหรือทำสัญญากู้ใหม่กับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ประกาศ เรื่อง โครงการธนาคารกรุงไทยรับแลกเปลี่ยนตั๋วบริษัทเงินทุน 42 บริษัท โดยรับแลกเปลี่ยนตั๋วตามความสมัครใจของผู้ทรงตั๋ว โดยให้ผู้ทรงตั๋วติดต่อขอทราบรายละเอียดและยื่นคำขอได้ที่บริษัทเงินทุนผู้ออกตั๋ว (เป็นประกาศฉบับที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง) จำเลยที่ 3 ออกข้อบังคับว่าด้วย การประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ว่าจำเลยที่ 3 ประกันการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ ยกเว้นผู้ฝากเงินหรือเจ้าหนี้รายใดที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นไปตามประเพณีการค้าตามปกติ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนเป็นผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริต จำเลยที่ 4 ประกาศ เรื่อง โครงการธนาคารกรุงไทยรับแลกเปลี่ยนตั๋วบริษัทเงินทุน 42 บริษัท (คปต.42) จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 5 เรื่อง การแลกเปลี่ยนตั๋วของบริษัทเงินทุนที่ถูกระงับดำเนินกิจการชั่วคราวว่า จำเลยที่ 5 ต้องให้สิทธิผู้ถือตั๋วที่จะเลือกต่อตั๋วที่บริษัทเดิมหรือเลือกที่จะเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้โดยให้ใช้หลักเกณฑ์ตามที่แนบ กรณีที่ผู้ถือตั๋วประสงค์ที่จะเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ให้ใช้เกณฑ์โดยละเอียดตามที่จำเลยที่ 4 จะได้ประกาศต่อไป จำเลยที่ 4 ประกาศเรื่อง โครงการธนาคารกรุงไทยรับแลกเปลี่ยนตั๋วบริษัทเงินทุน 42 บริษัท (คปต. 42) จำเลยที่ 3 ออกคำชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน จำเลยที่ 3 ออกหนังสือรับรองการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ต่อมาพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีผลใช้บังคับพระราชกำหนดฉบับนี้จัดตั้งจำเลยที่ 6 ขึ้น มีคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินดำเนินการต่อ 58 บริษัท ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 6 ประกาศผลการพิจารณาแผนการแก้ไขฟื้นฟูฐานะกิจการของบริษัทเงินทุน 58 บริษัท ดังกล่าวว่า ในจำนวน 58 บริษัท นั้นมี 56 บริษัท รวมทั้งจำเลยที่ 5 ไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินงานต่อไปได้ คณะกรรมการของจำเลยที่ 6 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีคำสั่งให้คณะกรรมการของจำเลยที่ 5 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าดำเนินการแทนคณะกรรมการของจำเลยที่ 5 และทำการชำระบัญชี และคำสั่งคือให้ระงับการดำเนินกิจการถาวรหรือปิดกิจการหรือเลิกบริษัทนั่นเอง วันเดียวกันจำเลยที่ 4 ออกประกาศ เรื่อง โครงการธนาคารกรุงไทยรับแลกเปลี่ยนตั๋วเจ้าหนี้บริษัทเงินทุน 42 บริษัท ที่แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไม่ได้รับความเห็นชอบ (คปต. จ) โดยเจ้าหนี้ซึ่งรวมทั้งผู้ทรงตั๋วแลกเงินแต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ มีสิทธินำตั๋วแลกเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากที่ออกโดยจำเลยที่ 4 ได้ โจทก์ยื่นคำขอแลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ เป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 ออกประกาศ เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 นั้น จำเลยที่ 2 ได้กล่าวโทษอดีตผู้บริหารหรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 5 รวม 14 คน แต่ฝ่ายคดีของจำเลยที่ 2 ทำบันทึกว่าฝ่ายคดีพิจารณาแล้วไม่พบว่าเจ้าหนี้ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 10 ราย ของจำเลยที่ 5 ซึ่งรวมทั้งโจทก์ มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับอดีตผู้บริหารดังกล่าว เจ้าหนี้ดังกล่าวซึ่งรวมทั้งโจทก์ทำหนังสือสอบถามไปยังจำเลยที่ 2 และทำหนังสือชี้แจงไปยังจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง ทางสายจัดการกองทุนของจำเลยที่ 3 ทำหนังสือหารือรองอัยการสูงสุดซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 ขณะนั้น รองอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบมาว่า เห็นควรไม่อนุญาตให้โจทก์แลกเปลี่ยนตั๋ว จำเลยที่ 3 จัดประชุมคณะกรรมการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 3 ที่ประชุมยกเหตุผลที่สนับสนุนให้แลกเปลี่ยนตั๋วได้และเหตุผลที่ไม่ควรให้แลกเปลี่ยนตั๋วขึ้นพิจารณาด้วย แล้วมีมติไม่อนุญาตให้ผู้ถือตั๋วแลกเงินทั้ง 10 ราย ซึ่งรวมทั้งโจทก์แลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 5 เป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ตามโครงการคปต.จ จำเลยที่ 3 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 5 แจ้งว่าคณะกรรมการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 3 มีมติไม่อนุญาต และแจ้งด้วยว่าผู้ถือตั๋วแลกเงินซึ่งรวมทั้งโจทก์สามารถขอรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 5 ตามประกาศของจำเลยที่ 6 เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ และจำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งโจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งจำเลยที่ 5 โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลว่าเหตุใดจึงมีมติไม่อนุญาต ต่อมาจำเลยที่ 3 มีหนังสือถึงโจทก์ แจ้งเหตุผลแห่งการมีมติไม่อนุญาตว่า เนื่องจากตั๋วแลกเงินของโจทก์ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศของจำเลยที่ 4 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 ต่อมาจำเลยที่ 6 มีหนังสือถึงโจทก์ เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้และขั้นตอนการชำระหนี้คืนของจำเลยที่ 5 ว่าจะได้รับชำระหนี้ประมาณร้อยละ 36.30 ของภาระหนี้ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว มีขั้นตอนด้วยว่าเจ้าหนี้เช่นโจทก์ที่จะขอรับชำระหนี้จะต้องถอนฟ้องจำเลยที่ 5 โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อจำเลยที่ 6 โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความของศาลชั้นต้นในวันเดียวกัน ต่อมาจำเลยที่ 6 พิจารณาแล้วเห็นควรให้โจทก์ได้รับการเฉลี่ยคืนด้วยเหตุว่าเป็นมูลหนี้สุจริตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามปกติของโจทก์ตามรายละเอียดผลการพิจารณาตรวจสอบหนี้ที่ขอรับชำระจำแนกตามวงเงิน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้โดยเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ ตามฟ้อง โจทก์ย่อมมีสิทธินำตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ ไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้นั้น ศาลฎีกา เห็นว่า จริงอยู่แม้หากจะฟังตามคำเบิกความของนางสาวภาสินี พนักงานของโจทก์ที่ว่าหากโจทก์ผู้ลงทุนกับจำเลยที่ 5 ในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงิน ต้องการใช้เงินที่ลงทุนก่อนตั๋วเงินนั้นถึงกำหนดใช้เงิน ก็สามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่ขายคืนเป็นไปตามตลาดเงิน โดยจะถูกหักดอกเบี้ยตามส่วนก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เคยไถ่ถอนก่อนครบกำหนดใช้เงินมาก่อนครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการไถ่ถอนก่อนกำหนดเป็นประเพณีการค้าปกติ ทั้งปรากฏว่าการขอไถ่ถอนก่อนถึงกำหนดใช้เงินคดีนี้มีข้อพิรุธน่าสงสัยหลายประการ กล่าวคือ ตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ เดิม ออกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 29 สิงหาคม 2540 บริษัทนิธิภัทร ลิสซิ่ง จำกัด เป็นผู้สั่งจ่ายสั่งบริษัทนิธิภัทร ลิสซิ่ง จำกัด ผู้จ่าย ให้ใช้เงินฉบับละ 10,000,000 บาท รวม 40,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 5 ผู้รับเงิน โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับอาวัล ซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์ผู้ทรงตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับเดิมนี้อาจเรียกร้องให้ใช้เงินตามตั๋วแลกเงินได้จากทั้งบริษัทนิธิภัทร ลิสซิ่ง จำกัด และจำเลยที่ 5 ย่อมเป็นผลดีแก่โจทก์มากกว่าเรียกร้องได้จากบริษัทนิธิภัทร ลิสซิ่ง จำกัด หรือจำเลยที่ 5 บริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงบริษัทเดียว แต่เมื่อโจทก์ยอมรับเอาตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับตามฟ้องแทน ปรากฏว่ามีเพียงจำเลยที่ 5 เพียงบริษัทเดียวที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนบริษัทนิธิภัทร ลิสซิ่ง จำกัด อาจหลุดพ้นความรับผิดตามตั๋วแลกเงินไปเลย โจทก์มิได้นำสืบอธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ กรณีน่าจะไม่เป็นประเพณีการค้าตามปกติ โจทก์อ้างว่าโจทก์จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 5 จำนวน 38,780,795.52 บาท ต่อมาหลังจากนั้น 19 วัน ทางการสั่งให้บริษัทเงินทุน 16 บริษัท ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว โจทก์อยู่ในแวดวงการเงินย่อมทราบดี ครั้นวันที่ 1 สิงหาคม 2540 โจทก์อ้างว่าโจทก์ขอไถ่ถอนตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ เดิม ทั้งที่จะถึงกำหนดใช้เงิน 28 วัน ข้างหน้า อ้างว่าขอรับเป็นเงินสดแต่จำเลยที่ 5 ไม่มีเงินสด จำเลยที่ 5 จึงออกตั๋วแลกเงินให้ใหม่ 4 ฉบับ ตามฟ้อง ทั้ง 4 ฉบับ ออกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ถึงกำหนดใช้เงินอีก 6 เดือน ข้างหน้า จำเลยที่ 5 เป็นทั้งผู้สั่งจ่าย ผู้จ่าย และผู้รับรองแก่โจทก์ผู้รับเงิน และหลังจากจำเลยที่ 5 ออกตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ ตามฟ้องแก่โจทก์ได้เพียง 4 วัน จำเลยที่ 5 ก็ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว การเร่งรีบออกตั๋วแลกเงินให้ใหม่โดยไม่มีเหตุผลที่ดีสนับสนุนเป็นพฤติกรรมเสมือนหนึ่งว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในว่าจำเลยที่ 5 จะต้องถูกทางการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวและทางการจะให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 5 โดยออกมาตรการให้นำตั๋วแลกเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งจะเห็นได้ภายหลังจากนั้นว่าถ้ายังคงเป็นตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ เดิมอยู่ โจทก์ก็ไม่อาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้เลย กรณีจึงมีเหตุผลน่าเชื่อตามคำเบิกความของนายสมชาย พยานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ว่า การขายคืนตั๋วแลกเงินก่อนครบกำหนดใช้เงินไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ นอกจากนี้จำนวนเงินที่เกินไปจากตั๋วแลกเงินเดิมฉบับละ 690,000 บาท โจทก์ก็นำสืบลอย ๆ ว่าเป็นดอกเบี้ยที่คิดถึงวันตั๋วแลกเงินฉบับใหม่ถึงกำหนดใช้เงิน ไม่นำสืบให้รับฟังได้ว่าคิดดอกเบี้ยตามตลาดเงิน รวมความแล้วน่าเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ ตามความหมายของข้อความที่ปรากฏในประกาศของจำเลยที่ 4 เรื่อง โครงการธนาคารกรุงไทยรับแลกเปลี่ยนตั๋วเจ้าหนี้บริษัทเงินทุน 42 บริษัทที่แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไม่ได้รับความเห็นชอบ (คปต.จ) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2540 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้รับแลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินของโจทก์เป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share