แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็น หุ้นส่วนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยลำพังไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1091
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ที่ 1 ลงทุนด้วยเงินเป็นหุ้นจำนวน 2,500,000 บาท เมื่อวันที่1 สิงหาคม 2532 โจทก์ที่ 1 ได้โอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 จำนวน500,000 บาท และโอนให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 1,500,000 บาท พร้อมทั้งมีหนังสือจดแจ้งการโอนหุ้นไปยังจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อของโจทก์ที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ถือหุ้นใหม่แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมดำเนินการดังกล่าวการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้เป็นหุ้นส่วนใหม่ โดยให้โจทก์ที่ 2เป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดลงทุนด้วยเงินจำนวน 500,000 บาท และให้โจทก์ที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดลงทุนด้วยเงิน 1,500,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 1ยังคงเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดและมีเงินลงทุนเหลืออยู่จำนวน 500,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่เคยมีหนังสือจดแจ้งการโอนหุ้นแก่จำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นใหม่ โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาท และ 1,500,000 บาท ตามลำดับโดยโจทก์ที่ 1 เหลือเงินลงทุน 500,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาท และ 1,500,000 บาท ตามลำดับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำเลยความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ที่ 1 ลงทุนด้วยเงินเป็นหุ้นจำนวน 2,500,000 บาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้โอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 500,000 บาท และโอนให้โจทก์ที่ 3 จำนวน1,500,000 บาท โจทก์ทั้งสามได้มีหนังสือจดแจ้งการโอนดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าการโอนหุ้นดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การโอนหุ้นหากมิได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียนได้เนื่องจากขัดต่อหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1080 และมาตรา 1040 ทั้งสภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ไม่อาจบังคับหุ้นส่วนคนอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ หากจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวดำเนินการไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนคนอื่นอาจเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำรงคงอยู่ต่อไปและอาจต้องเลิกห้างนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 1080 และมาตรา 1040 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญจะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกหรือชักนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นส่วน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมนำมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วยโดยอนุโลมสำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดที่จะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้นอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยลำพังไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นตามที่มาตรา 1090แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะเรื่องการโอนหุ้นเท่านั้น เพราะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิ อำนาจหน้าที่ และความรับผิดจำกัด และเนื่องจากมีสิทธิอำนาจหน้าที่ และความรับผิดจำกัดนี้เอง คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวก จำกัดความรับผิดจึงมิใช่สาระสำคัญ และการเป็นหุ้นส่วนจำพวกดังกล่าวไม่เป็นการเฉพาะตัว ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด โจทก์ที่ 1 จึงอาจโอนหุ้นของตนได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ทั้งการโอนหุ้นดังกล่าวก็หาใช่การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1032 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่”
พิพากษายืน