คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 665/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าของที่ดินจดทะเบียนที่ดินของ+ให้เป็นทางสาธารณแล้ว+หมดกรรมสิทธิ แม้เจ้าหน้าที่จะออกโฉนดให้ในนามของ+ถือกรรมสิทธิเป็นเจ้าของภายหลังต่อมาก็ตามก็ไม่ทำให้ได้กรรมสิทธิกลับคืนมา อ้าง ฎีกาที่ 662/2470,332/2475,538/2469 และ 497/2473 การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะหรือทางหลวงนั้นไม่จำต้องโอนโฉนดมอบให้แก่แผ่นดิน เพียงการอุทิศโดยแจ้งชัด เช่นบอกความจำนงแก่เจ้าหน้าที่หรือจดทะเบียนในหน้าโฉนดก็เป็นการเพียงพอ
การที่อสังหาริมทรัพย์กลายสภาพเป้นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามประมวลแพ่งฯ ม.1304 แล้วจะกลับมาตกได้แก่เอกชนอีก+แต่โดยอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติไว้ใน ม.1305 เท่านั้น
พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่กฎหมายที่ก่อตั้งกรรมสิทธิให้แก่ผู้ที่มีรายชื่อเป็นเจ้าของที่ดินที่จักถูกเวนคืนการที่บุคคลมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินที่จะถูกเวนคืนใน พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้นมิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินนั้นเสมอไป
ข้อตกลงของเจ้าพนักงานที่ยอมให้ค่าทำขวัญแก่บุคคลซึ่งมิได้เป็นเจ้าของที่ดินที่ต้องถูกเวนคืนนั้นเป็นโมฆะตาม ม.113 แห่งประมวลแพ่งฯ

ย่อยาว

เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๔๘๘๓ ซึ่งเป็นถนนระนอง โจทก์ได้ไปจดทะเบียนเป็นทางสาธารณะไว้แล้วเมื่อได้มี พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างท่าเรือ เนื้อที่ในถนนที่จดทะเบียนเป็นทางสาธารณะนี้อยู่ในเขตต์ที่จะต้องเวรคืนด้วย และในบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินท้ายพระราชบัญญัติก็มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๔๘๘๓ นี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าทำขวํยตามที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดจากจำเลย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาตัดสินว่า ปรากฎตามข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทเป็นทางสาธารณะแต่ในหน้าโฉนดโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ ปัญหาจึงมีว่าเอกชนถือกรรมสิทธิที่ดินที่เป็นทางสาธารณะได้หรือไม่ และทางสาธารณะรายพิพาทนี้จะเป็นทางหลวงตาม ม.๑๓๐๔ แห่งประมวลแพ่งฯ หรือไม่ เพราะถ้าเป็นทางหลวงแล้วก็เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินจะเป็นของเอกชนไม่ได้ เรื่องทางสาธารณะนี้คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๒/๒๔๗๐,๓๓๒/๒๔๗๕ และ ๕๓๘/๒๔๖๙ ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเจ้าของที่ดินอุทิศที่ดินของตนให้เป็นทางสาธารณะแล้วก็หมดกรรมสิทธิ จริงอยู่คดีนี้แม้เจ้าพนักงานจะออกโฉนดให้โจทก์ภายหลังที่โจทก์จดทะเบียนเป็นทางสาธารณะก็ดีตามนัยฎีกาที่ ๔๙๗/๒๔๗๓ ก็ไม่ทำให้โจทก์กลับมีกรรมสิทธิในที่ดินที่ได้อุทิศไปแล้วนั้นอีกเมื่อโจทก์ได้อุทิศที่รายพิพาทให้เป็นทางสาธารณะและสาธารณชนได้ใช้สัญจนไปมาแล้ว โจทก์ย่อมไม่ใช่เจ้าของที่รายพิพาทต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าทำขวัญได้ การที่พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ระบุชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่รายพิพาทนั้นก็เมื่อปรากฎว่าที่รายพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว โจทก์จะได้สิทธิคืนมาก็แต่โดยอำนาจตาม ม.๑๓๐๕ เท่านั้น การที่มีชื่อโจทก์ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.เป็นเพียงข้อสันนิษฐานไว้ก่อนเพื่อความสะดวกที่เจ้าหน้าที่จะติดต่อดำเนินการให้ค่าทำขวัญเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการเด็ดขาดว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิเสมอไปจะเห็นได้จาก ม.๒๕,๒๗ ว่าถ้ามีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิก็ให้นำคดีสู้ศาลวินิจฉัยได้ ฉะนั้น พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ใช่กฎหมายที่ก่อตั้งกรรมสิทธิแก่ผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของที่ดินที่จะถูกเวนคืน โจทก์อ้างอีกว่าจำเลยได้ตกลงจะจ่ายค่าทำขวัญให้แก่โจทก์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วจะกลับไม่ยอมชำระไม่ได้ในข้อนี้ปรากำว่าอนุญาโตตุลาการชี้ขาดฉะเพาะเรื่องราคามิได้ชี้ชาด ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินรายพิพาทแล้ว จำเลยก็ย่อมไม่มีอำนาจให้ค่าทำขวัญแก่โจทก์ตาม ม.๑๑ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ข้อตกลงใดที่จำเลยยอมให้ค่าทำขวัญแก่โจทก์ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลแพ่งฯ ม.๑๑๓ จึงพิพากษายืนตามศาลล่างให้ยกฟ้องโจทก์

Share