คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีมีอำนาจที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ผู้คัดค้านชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทเป็นคดีใหม่ และกรณีนี้มิใช่เป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โฉนดเลขที่ ๘๒๖๑ ตำบลบ้านสวน อำเภอบางปลาสร้อย (เมืองชลบุรี) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา โดยการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้วไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตามกฎหมาย โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ ว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว โดยผู้ร้องและบุคคลทั่วไปไม่เคยโต้แย้ง ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น ผู้คัดค้านไม่ทราบแต่อย่างใด ผู้คัดค้านเพิ่งทราบเมื่อปี ๒๕๔๓ การที่ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องเกิดจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ร้อง เป็นเหตุให้ศาลหลงผิดจึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็ให้ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่เป็นคดีต่างหาก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีมีอำนาจที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ (๒) โดยผู้คัดค้านชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทเป็นคดีใหม่ และกรณีนี้มิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗ (๔) ดังที่ผู้คัดค้านฎีกา เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวกับการอนุญาต หรือการแต่งตั้ง ตามความหมายของมาตราดังกล่าวซึ่งผู้คัดค้านสามารถจะยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิมได้
พิพากษายืน.

Share