คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14031-14032/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประกันการทำงานและการจดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสอง (ลูกจ้าง) เป็นนิติกรรมระหว่างจำเลย (นายจ้าง) กับ ธ. และระหว่างจำเลยกับ จ. แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ทั้งสองก็มิได้ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับหลักประกันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปลดจำนองที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสอง
ตามระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2545 ของจำเลย ในกรณีลูกจ้างออกจากตำแหน่งเพราะตายจำเลยก็จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของลูกจ้าง อีกทั้งลูกจ้างที่มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จต้องทำงานด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นเวลาติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินบำเหน็จจึงมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ถือว่าเงินบำเหน็จเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแยกต่างหากจากค่าชดเชย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค 5 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ และให้เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 98,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,779.83 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 104,979.83 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 59,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,736.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 62,776.50 บาท โบนัสแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 9,820 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 677.98 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,497.98 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 7,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 467.06 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,847.06 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 9,820 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,355.96 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,175.96 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 7,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 934.12 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,314.12 บาท ค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 98,199 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,559.53 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าทุกเจ็ดวันของเงินค่าชดเชย คิดเป็นเงินเพิ่มงวดละ 14,729.85 บาท นับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2547 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 692,302.95 บาท รวมค่าชดเชย ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 804,601.48 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 59,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,473 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าทุกเจ็ดวันของเงินค่าชดเชย คิดเป็นเงินเพิ่มงวดละ 8,856 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2547 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 380,808 บาท รวมค่าชดเชย ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 447,321 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 รวมเวลา 55 วัน วันละ 654.66 บาท คิดเป็นเงิน 36,006.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,971.83 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าทุกเจ็ดวันของต้นเงิน 36,006.30 บาท คิดเป็นเงินเพิ่มงวดละ 5,400.94 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2547 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 253,844.41 บาท รวมค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 294,822.53 บาท และโจทก์ที่ 2 รวมเวลา 43 วัน วันละ 492 บาท คิดเป็นเงิน 21,156 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,677.82 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าทุกเจ็ดวันของต้นเงิน 21,156 บาท คิดเป็นเงินเพิ่มงวดละ 3,173.40 บาท นับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2547 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 136,456.20 บาท รวมเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 160,290.02 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงไปอบรมกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่จัดระหว่างวันที่ 24 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2547 รวมเวลา 4 วัน สถานที่จัดอบรมจังหวัดเชียงใหม่แก่โจทก์ที่ 1 วันละ 500 บาท คิดเป็นเงิน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 276.16 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,276.16 บาท และโจทก์ที่ 2 วันละ 400 บาท คิดเป็นเงิน 1,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 101.26 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,701.26 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 อายุ 44 ปี 4 เดือน ยังเหลืออายุการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานอีกเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี 8 เดือน ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 2,891,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และโจทก์ที่ 2 อายุ 44 ปี ยังเหลืออายุการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานอีกเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 16 ปี ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 2,243,760 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างในตำแหน่งรักษาการผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2547 คิดเป็นเงิน 117,840 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2546 (ที่ถูก 2547) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,271.60 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสิบห้าทุกเจ็ดวันของค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 117,840 บาท คิดเป็นเงินเพิ่มงวดละ 17,676 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2547 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 830,772 บาท รวมค่าจ้าง ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 964,883.60 บาท กับให้จำเลยปลดจำนองหลักทรัพย์ประกันการทำงานของโจทก์ที่ 1 เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 11922 ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา คืนให้แก่นายธีระพล ผู้ถือกรรมสิทธิ์ และของโจทก์ที่ 2 เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3500 ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เนื้อที่ 3 งาน 37 ตารางวา คืนให้แก่นางสาวจำนงค์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 58,920 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 44,280 บาท เงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 39,280 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 14,760 บาท กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 9,820 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันเลิกจ้าง (เลิกจ้างวันที่ 1 กรกฎาคม 2547) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จและโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 7,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันเลิกจ้าง (เลิกจ้างวันที่ 28 กรกฎาคม 2547) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปลดจำนองทรัพย์สิน ซึ่งใช้ประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า นายธีระพล นำที่ดินโฉนดเลขที่ 11922 ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ส่วนนางสาวจำนงค์ นำที่ดินโฉนดเลขที่ 3500 ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน จดทะเบียนจำนองต่อจำเลยเพื่อประกันการทำงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองแล้ว สัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาประธานไม่มีผลใช้บังคับ สัญญาจำนองย่อมตกไป จำเลยต้องไถ่ถอนจำนองและคืนโฉนดต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ เห็นว่า สัญญาประกันการทำงานและการจดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสอง เป็นนิติกรรมระหว่างจำเลยกับนายธีระพล และระหว่างจำเลยกับนางสาวจำนงค์ แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจะสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ทั้งสองก็มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับหลักประกันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปลดจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสอง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า จำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จแยกต่างหากจากค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบจำเลยว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2545 ว่าด้วยการจ่ายเงินโบนัส บำเหน็จ และค่าชดเชยข้อ 30 กำหนดว่า พนักงานหรือลูกจ้างของสหกรณ์ออกจากสหกรณ์ เพราะสหกรณ์เลิกจ้าง มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากสหกรณ์ ดังนี้… (3) พนักงานหรือลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป โดยรวมวันหยุด วันลาและวันที่สหกรณ์สั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของสหกรณ์ ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และข้อ 31 กำหนดว่าพนักงานหรือลูกจ้างของสหกรณ์คนใดทำงานด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าห้าปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อออกจากตำแหน่ง เว้นแต่การออกเพราะถูกลงโทษไล่ออกหรือเลิกจ้าง และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้วตามข้อ 30 การคำนวณเงินบำเหน็จ ให้เอาเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เศษของปีถ้าถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันให้นับเป็นหนึ่งปี ถ้าต่ำกว่านี้ให้ปัดทิ้ง แต่ในกรณีคำนวณบำเหน็จตามระเบียบนี้ มีจำนวนมากกว่าค่าชดเชยที่พนักงานหรือลูกจ้างพึงได้รับตามข้อ 30 ให้สหกรณ์จ่ายเงินบำเหน็จเพิ่มได้ เฉพาะส่วนที่เกินกว่าค่าชดเชยเท่านั้น พนักงานหรือลูกจ้างสหกรณ์ ซึ่งออกจากตำแหน่งเพราะตาย สหกรณ์จะจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาท ดังนั้น ตามระเบียบจำเลยว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2545 ดังกล่าว ในกรณีลูกจ้างออกจากตำแหน่งเพราะตาย จำเลยก็ยังจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของลูกจ้าง นอกจากนี้ลูกจ้างที่มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จจะต้องทำงานด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าห้าปี เงินบำเหน็จดังกล่าวนี้จึงเป็นเงินที่มีลักษณะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ย่อมถือว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่ค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแยกต่างหากจากค่าชดเชยที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานภาค 5 นำสืบและรับฟังมา ในเรื่องพฤติการณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ท้าชกและจะเข้าไปชกนายเมธาพรนั้น เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นเหยียดหยามไม่สุภาพเรียบร้อย ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติของจำเลย และในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 นำหนังสือที่มีข้อความโจมตีนายวงค์ว่าขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยไปแจกแก่สมาชิก และขึ้นเวทีปราศรัยชักจูงสมาชิกให้ขาดความเชื่อถือต่อคณะกรรมการ นอกจากเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่การเป็นลูกจ้างที่ดีแล้ว ยังเป็นการกระทำผิดวินัยอีกด้วย ซึ่งจำเลยย่อมนำเอาเหตุการกระทำของโจทก์ทั้งสองตามที่ได้ความดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จมานั้น เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัยมาเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว ถึงแม้โจทก์ทั้งสองจะอุทธรณ์ขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแยกต่างหากจากค่าชดเชยและขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าชดเชยให้ถูกต้องใหม่ ก็ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าจ้างในตำแหน่งรักษาการผู้จัดการหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างสหกรณ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลย ข้อ 1 ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างได้ว่าจ้างผู้รับจ้างกระทำการในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ หรือตำแหน่งหน้าที่อื่นที่ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากคณะกรรมการดำเนินการ…” ดังนั้น การที่จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์ที่ 1 รักษาการตำแหน่งผู้จัดการอีกตำแหน่งหนึ่ง ก็เป็นเพียงการมอบหมายหน้าที่ให้โจทก์ที่ 1 เพิ่มขึ้นตามสัญญาจ้างดังกล่าว หาใช่การกำหนดข้อตกลงและอัตราค่าจ้างขึ้นใหม่ไม่ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในการปฏิบัติหน้าที่รักษาการตำแหน่งผู้จัดการ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อไปในส่วนของโจทก์ที่ 1 ทำนองว่า การที่คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยมีมติไม่ให้โจทก์ที่ 1 ออกปฏิบัติหน้าที่ประชุมกลุ่ม และมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งรักษาการผู้จัดการนั้น โจทก์ที่ 1 เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะนายวงค์ ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 5 จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่า นายเมธาพร ซึ่งเป็นผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการเพียงแต่เข้ามารายงานตัวต่อจำเลยเท่านั้น และจากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองได้ความว่า คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยยังไม่มีหนังสือบรรจุแต่งตั้งให้นายเมธาพรดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยพนักงานฯ ของจำเลยนายเมธาพรเป็นเพียงพนักงานฝึกหัดหรือทดลองงาน นอกจากนี้นายเมธาพรและพยานอื่นก็เบิกความว่า นายเมธาพรยังไม่ได้รับมอบงาน อำนาจและหน้าที่ผู้จัดการจึงยังคงอยู่ที่โจทก์ที่ 1 จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกและโจทก์ที่ 1 ได้ทราบคำสั่งยกเลิกนั้นโดยชอบแล้ว นายเมธาพรจึงไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ 1 ตามที่จำเลยอ้างและเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ต้องออกจากงานแต่อย่างใด เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 5 ที่ฟังข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากจำเลยรับนายเมธาพรเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงต้องกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกสินเชื่อเช่นเดิมและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายเมธาพร จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2547 จำเลยประกาศผลสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการ ปรากฏว่านายเมธาพร เป็นผู้สอบแข่งขันได้ โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้สมัครเข้าสอบแข่งขัน จึงยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อตรวจดูผลการสอบคัดเลือกต่อนายวงค์ ประธานกรรมการของจำเลย แต่นายวงค์บ่ายเบี่ยง เมื่อโจทก์ที่ 1 สอบถามนายวงค์ นายวงค์ตอบว่าโจทก์ที่ 1 สร้างความวุ่นวาย โจทก์ที่ 1 พูดกับนายวงค์ว่า “ถ้าคุณเป็นลูกผู้ชายพอ ต้องเอาผลสอบมาให้ผมดู ทำไมต้องให้ผมไปดูเอง” การกระทำของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าว เป็นการกระทำตามสิทธิที่ควรจะทราบผลสอบในฐานะบุคคลทั่วไป ไม่ได้อยู่ในฐานะลูกจ้างของจำเลย การที่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ออกจากงานด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า นอกจากศาลแรงงานภาค 5 จะวินิจฉัยพฤติการณ์ของโจทก์ที่ 1 ตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์แล้ว ศาลแรงงานภาค 5 ยังวินิจฉัยอีกว่าพฤติการณ์ที่โจทก์ที่ 1 มีปากเสียงใช้คำพูดที่ไม่สุภาพต่อนายเมธาพร ซึ่งเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ 1 หลายครั้ง จนกระทั่งถึงขั้นท้าชก และจะเข้าไปชกนายเมธาพร แต่มีผู้ห้ามไว้ได้ทัน ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่สุภาพเรียบร้อยต่อสมาชิกของจำเลย และฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติของจำเลย อันเป็นการกระทำผิดวินัย และเป็นเหตุที่โจทก์ที่ 1 ต้องถูกเลิกจ้างด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายืน

Share