คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6638/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่ามีการตกลงจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทกันตามคำฟ้องสำนวนแรก แต่จำเลยอ้างว่าตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกันตามคำฟ้องสำนวนหลัง และต่างโต้แย้งว่ามิได้มีการทำสัญญาตามที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้าง ดังนั้น การจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทซึ่งกำหนดไว้ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาท ย่อมจำเป็นต้องวินิจฉัยให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญากันตามข้ออ้างของฝ่ายใด และสัญญานั้นมีผลบังคับใช้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อเป็นหลักในการวินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาขึ้นวินิจฉัยว่า มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือไม่ จึงไม่นอกประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้
สำหรับฎีกาของจำเลยในเรื่องค่าเสียหายจากการที่จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทตามคำฟ้องในสำนวนแรก โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายก่อนวันฟ้องเป็นเงิน 30,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากบ้านและที่พิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยในสำนวนแรกคงให้เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามเดิม ส่วนในสำนวนที่สองให้เรียกโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท ค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารจะออกไป
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สองจำเลยที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่จำเลยที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาและให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,311,375 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 235,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 2 พร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 มกราคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 พร้อมทั้งบริวารจะออกไป ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง กำหนดเป็นค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง และให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองส่งมอบการครอบครองบ้านและที่ดินนั้นให้จำเลยที่ 2 ในปี 2538 ต่อมาโจทก์ทั้งสองแจ้งให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบการครอบครองคืน แต่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามยังคงครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทตลอดมา ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อแรกมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยกปัญหาขึ้นวินิจฉัยว่า มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีการตกลงจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทกันตามคำฟ้องสำนวนแรก แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่าตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกันตามคำฟ้องสำนวนหลัง โดยต่างโต้แย้งว่ามิได้มีการทำสัญญาตามที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้าง ดังนั้น การจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทซึ่งกำหนดไว้ว่าโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาท ย่อมจำเป็นต้องวินิจฉัยให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญากันตามข้ออ้างของฝ่ายใด และสัญญานั้นมีผลบังคับใช้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อเป็นหลักในการวินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามข้อตกลงในสัญญานั้น การวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวจึงไม่นอกประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 2 และรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 นำสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ล. 2 ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองไปกรอกข้อความในสัญญาเองโดยโจทก์ทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอม สัญญาที่จำเลยที่ 2 นำมาอ้างจึงเป็นเอกสารปลอม ไม่อาจใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองได้
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 เรื่องค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการที่จำเลยที่ 2 อาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทตามคำฟ้องในสำนวนแรกนั้น โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายก่อนวันฟ้องเป็นเงิน 30,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2 และบริวารจะออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share