คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ยังมีสิทธิและโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นปาล์มน้ำมันที่ถูกเวนคืนอีกประมาณ 16 ปี แต่ผลผลิตและราคาของปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นผลิตผลทางเกษตรในอนาคตที่จะทำให้โจทก์ผู้ปลูกมีกำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้หลายประการ ทั้งจำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ไปแล้วก่อนที่จำเลยจะเข้าครอบครองต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์ที่ถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนความเสียหายจากการขาดรายได้จากต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดที่ถูกเวนคืนเป็นระยะเวลา 6 ปี ที่รัฐมนตรี ฯ วินิจฉัยเพิ่มให้แก่โจทก์ไปแล้วเช่นกัน โจทก์ย่อมนำเงินทั้งสองจำนวนนี้ไปลงทุนแสวงหากำไรอันเป็นส่วนที่สามารถชดเชยผลประโยชน์ที่โจทก์คาดหมายว่าจะได้ผลผลิตในอนาคตระยะเวลาประมาณ 16 ปี ของต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดของโจทก์ที่ถูกเวนคืน ดังนั้นความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเนื่องมาจากต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์ถูกเวนคืนกับความเสียหายเนื่องจากที่โจทก์ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนรวมกันแล้วจึงไม่มากถึงจำนวนเงินที่โจทก์คำนวณกำไรคงที่จากผลผลิตของต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดของโจทก์ที่ถูกเวนคืนในระยะเวลา 16 ปี โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนส่วนนี้เพิ่มจากที่ฝ่ายจำเลยกำหนดไว้อีกเป็นจำนวนเท่ากับกำไรสุทธิจากผลผลิตต้นปาล์มน้ำมันต่อต้นต่อปีตามที่ฝ่ายจำเลยคำนวณไว้ของต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดที่ถูกเวนคืนในระยะเวลาอีก 2 ปี
โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่ทางราชการ ทั้งไม่ใช่กรณีการเช่าตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 (3) และได้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่โจทก์ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ตามมาตรา 21 วรรคท้ายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนเป็นค่าสละที่ดินตามข้ออ้างของโจทก์แยกต่างหากอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 35,662,663 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 33,245,445 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินทดแทนเพิ่ม 27,820,071.80 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารออมสินกำหนดจ่ายแก่เงินฝากประเภทประจำ แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดเงินค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าทดแทนเพิ่ม 9,306,095.61 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเบื้องต้นได้ว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเหยียน ในท้องที่ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อทำสวนปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ 20,000 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2528 จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2558 ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2541 มีการออก พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 สายกระบี่ – กาญจนดิษฐ์ ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (บ้านหนองหลุมพอ) – อำเภอเคียนซา พ.ศ. 2541 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2541 ทำให้สวนปาล์มน้ำมันของโจทก์ถูกเวนคืน 3 แปลง เนื้อที่รวม 351 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ซึ่งมีต้นปาล์มน้ำมันอายุประมาณ 9 ปี ปลูกอยู่จำนวน 8,089 ต้น คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนต้นปาล์มน้ำมันให้แก่โจทก์ต้นละ 2,200 บาท รวมเป็นเงิน 17,795,800 บาท และเงินค่าทดแทนค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและค่าเสียหายต่าง ๆ รวมเป็นเงิน 1,705,018 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,500,818 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 43,465,492 บาท โดยเป็นเงินค่าทดแทนต้นปาล์มน้ำมันเป็นเงิน 37,346,913 บาท และค่าสละที่ดินเป็นเงิน 6,118,579 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยแยกเป็นค่าต้นปาล์มน้ำมันต้นละ 1,507 บาท และค่าเสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตต้นละ 130.43 กิโลกรัมต่อปี กำไรเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.50 บาท เป็นเวลา 6 ปี เป็นเงินต้นละ 1,956.45 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนต่อต้นต้นละ 3,463.45 บาท โจทก์ได้รับไปแล้วต้นละ 2,200 บาท จึงได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีกต้นละ 1,263.45 บาท จำนวน 8,089 ต้น เป็นเงิน 10,220,047 บาท ส่วนค่าสละที่ดินให้ยกอุทธรณ์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์ควรจะได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นเงินเท่าใด และมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ควรได้รับค่าสละที่ดินหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ปลูกต้นปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเหยียน ซึ่งบางส่วนของที่ดินที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์นี้อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาคดีนี้โดยโจทก์ได้ปลูกต้นปาล์มน้ำมันในที่ดินดังกล่าวก่อนวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาคดีนี้ ดังนั้นโจทก์จึงเป็นเจ้าของต้นปาล์มน้ำมันที่ขึ้นอยู่ในที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 (4) และเป็นผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายที่ประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้น จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนต้นไม้ยืนต้นคือต้นปาล์มน้ำมันที่ถูกเวนคืนและเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตามมาตรา 21 วรรคท้ายด้วย โจทก์มีนายสมบูรณ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงถึง 3,500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ในขณะที่สวนปาล์มน้ำมันของชาวสวนทั่วไปได้ผลผลิตเพียงปีละ 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และในขณะถูกเวนคืน ต้นปาล์มน้ำมันมีอายุเฉลี่ย 9 ปี กำลังให้ผลผลิตเต็มที่ และสามารถให้ผลผลิตต่อไปได้อีกอย่างน้อย 16 ปี ทั้งโจทก์ประกอบกิจการแบบครบวงจร คือ มีทั้งสวนปาล์มน้ำมันและมีโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงไม่ต้องเสียค่าขนส่งปาล์มน้ำมันไปยังโรงงาน นอกจากนี้โจทก์ซื้อปุ๋ยได้ในราคาถูกเพราะซื้อครั้งละจำนวนมาก ต้นทุนในการผลิตจึงไม่สูงเหมือนของชาวสวนทั่วไป โดยมิได้มีรายละเอียดหลักฐานเป็นหนังสือว่า ต้นทุนในการปลูกต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์มีอะไรบ้าง ได้ผลผลิตต้นละเท่าใด หักแล้วมีรายได้จากน้ำมันปาล์มต้นละเท่าใด ล้วนแต่เป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีเอกสารสนับสนุน แม้โจทก์จะทำเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นรายการคำนวณหาผลผลิตของโจทก์ แต่ก็เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 247 ส่วนจำเลยมีนายชัยวัฒน์ เจ้าหน้าที่จัดหาที่ดิน สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง เป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารสรุปความได้ว่า พยานเป็นผู้จัดหาพยานเอกสารเกี่ยวกับการเวนคืนในครั้งนี้ โดยได้ขอข้อมูลจากเกษตรจังหวัดกระบี่เกี่ยวกับการกำหนดราคาพืชผลของสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ตามแนวถนนสายกระบี่ – ขนอม ซึ่งเป็นถนนสายเดียวกันกับถนนที่มีการเวนคืนในครั้งนี้ ได้มีการทำบัญชีราคาค่าต้นไม้ยืนต้น ปี 2541 ไว้ โดยต้นปาล์มน้ำมันขนาดเล็ก 1,000 บาท ขนาดกลาง 1,500 บาท และขนาดใหญ่ 3,000 บาท แต่สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวงได้พิจารณาตามรายละเอียดที่นักวิชาการเกษตรชี้แจงว่าต้นทุนการผลิตของต้นปาล์มน้ำมันต่อต้นอายุ 8 ปี เป็นเงิน 1,507 บาท ค่าเสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตควรคิดเพียง 4 ปี เป็นเงิน 718 บาท รวมเป็นเงิน 2,225 บาท จึงเห็นควรกำหนดเงินค่าทดแทนต้นปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ต้นละ 2,200 บาท คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ จึงกำหนดเงินค่าทดแทนต้นปาล์มน้ำมันให้แก่โจทก์ต้นละ 2,200 บาท ครั้นเมื่อโจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ ได้พิจารณาโดยนำข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบกันแล้วสรุปได้ว่า ตามหลักวิชาการ ปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลผลิตและราคาสูงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องคือ พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปริมาณน้ำฝน การดูแลรักษา ทุนทรัพย์ของผู้ประกอบการ และเมื่อประกอบกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ ได้พิจารณาถึงผลผลิตต่อไร่ต่อปี อัตราปลูกต่อไร่ ต้นทุนการผลิต กำไรสุทธิ และค่าเสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตในสมมติฐานการให้ปลูกใหม่เป็นระยะเวลา 6 ปี โดยชดเชยผลผลิตให้ปีละเท่า ๆ กัน ต้นละ 130.43 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 2.50 บาท ระยะเวลา 6 ปี เป็นเงินต้นละ 1,956.45 บาท (130.43 x 6 x 2.50) จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายจากค่าต้นทุนการผลิตต้นละ 1,507 บาท รวมกับค่าเสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตต้นละ 1,956.45 บาท รวมเป็นค่าเสียหายต่อต้น ต้นละ 3,463.45 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้วต้นละ 2,200 บาท จึงควรเพิ่มเงินค่าทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์อีกต้นละ 1,263.45 บาท จำนวน 8,089 ต้น เป็นเงิน 10,220,047 บาท ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นชอบด้วย ในการคิดคำนวณเกี่ยวกับผลผลิต ต้นทุนการผลิต และกำไรสุทธิต่อต้นที่ฝ่ายจำเลยคำนวณมาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มีรายละเอียดการคิดคำนวณตามหลักวิชาการ โดยมีการนำข้อมูลทั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และจากศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานี มาประกอบการพิจารณา จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ทั้งผลผลิตและราคาของปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นผลผลิตทางเกษตรในอนาคตที่จะทำให้โจทก์ผู้ปลูกมีกำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้หลายประการ ดังเช่น ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ไฟไหม้ ความแห้งแล้ง ศัตรูพืช โรคพืช ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น ภาวะตลาด เป็นต้น ไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะได้ผลผลิตและกำไรจากผลผลิตคงที่ตลอดระยะเวลายาวนานถึง 16 ปี ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และประการสำคัญจำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนต้นปาล์มน้ำมันและเงินค่าทดแทนสำหรับถนนลูกรังในสวนปาล์มน้ำมันตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ กำหนดไว้รวมทั้งสิ้น 19,500,818 บาท ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ตามสำเนาใบสำคัญจ่ายก่อนที่จำเลยจะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืน และจำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนความเสียหายจากการขาดรายได้จากต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดที่ถูกเวนคืนเป็นระยะเวลา 6 ปี ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยเพิ่มอีกเป็นเงิน 10,220,047 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2544 ตามคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ พยานจำเลย ประกอบสำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทน โจทก์ได้รับเงินทั้งสองจำนวนนี้รวมกันเกินกว่า 29,720,865 บาท ย่อมนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนแสวงหากำไรได้อย่างมาก อันเป็นส่วนที่สามารถชดเชยผลประโยชน์ที่โจทก์คาดหมายว่าจะได้จากผลผลิตในอนาคตระยะเวลาประมาณ 16 ปี ของต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์ที่ถูกเวนคืนได้บางส่วน ดังนั้น ความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเนื่องมาจากต้นปาล์มน้ำมันและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ถูกเวนคืนรวมกับความเสียหายเนื่องจากที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นรวมกันแล้วไม่มากถึงจำนวนเงินที่โจทก์คำนวณกำไรคงที่จากผลผลิตของต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดของโจทก์ที่ถูกเวนคืนในระยะเวลา 16 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อคำนึงถึงเหตุผลดังที่วินิจฉัยมาแล้วกับระยะเวลาที่โจทก์เสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นปาล์มน้ำมันไปประมาณ 16 ปีแล้ว เห็นว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์ที่ถูกเวนคืนและสิ่งปลูกสร้างอื่นรวมกับความเสียหายเนื่องจากที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นจากเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดและจ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วอีกเป็นจำนวนเท่ากับกำไรสุทธิจากผลผลิตต้นปาล์มน้ำมันต่อต้นตามที่ฝ่ายจำเลยคำนวณไว้ในจำนวนต้นปาล์มน้ำมันที่ถูกเวนคืน 8,089 ต้น ในระยะเวลาอีก 2 ปี โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีกเป็นเงินจำนวน 5,275,241.35 บาท (130.43 x 2.50 x 8089 x 2) ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนค่าสละที่ดินนั้นได้ความว่า ที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งโจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่ทางราชการ ทั้งไม่ใช่กรณีการเช่าตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 (3) และได้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่โจทก์ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ตามมาตรา 21 วรรคท้ายแล้ว กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนเป็นค่าสละที่ดินตามข้ออ้างของโจทก์แยกต่างหากอีก ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2542 โจทก์กับผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมรับเงินค่าทดแทนต้นไม้ยืนต้นและเงินค่าทดแทนถนนดินลูกรังในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นกรณีที่ตกลงซื้อขายกันได้ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนส่วนนี้ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายคือต้องจ่ายเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2542 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2542 อันเป็นวันก่อนที่โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่ม 5,275,241.35 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share