คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง
โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและกระบวนพิจารณาต่อจากนั้นตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่ชั้นส่งคำคู่ความ แล้วมีคำพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งในคำพิพากษาใหม่
โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยยื่นฟ้องฉบับใหม่ว่า โจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2527 ต่อมาเดือนมกราคม 2542 โจทก์ทราบว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับนาย ภ. ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2524 เมื่อจำเลยจดทะเบียนหย่ากับนาย ภ. จำเลยต้องใช้คำนำหน้าชื่อว่านาง และใช้ชื่อสกุลเดิมของจำเลย แต่ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยกลับแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อนายทะเบียน โดยมีคำนำหน้าชื่อว่า นางสาว จ. และให้ถ้อยคำต่อนายทะเบียนว่า จำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไว้ ณ สำนักทะเบียนใดอยู่ก่อนซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยต้องแจ้งว่า ตนจดทะเบียนสมรสมาก่อนและจดทะเบียนหย่าแล้ว การกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนจึงเป็นการฉ้อฉลต่อโจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงว่าจำเลยเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนแล้ว โจทก์จะไม่จดทะเบียนสมรสกับจำเลย จึงเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยถูกฉ้อฉลอันถึงขนาด การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆียะและภายหลังจดทะเบียนสมรส โจทก์กับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นาย พ. และนางสาว ว. โจทก์ขอใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม และให้ถือว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิม ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเพื่อบอกล้างโมฆียะกรรมการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2527 และให้การสมรสตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิม ให้มีหนังสือแจ้งคำพิพากษาไปยังนายทะเบียนอำเภอเมืองนนทบุรีเรื่องการสมรสเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกและให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนการรับรองนาย พ. และนางสาว ว. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย 49,920,000 บาท และในอัตราเดือนละ 260,000 บาท นับถัดจากวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่ ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย 57,600,000 บาท และในอัตราเดือนละ 300,000 บาท นับถัดจากวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่ ให้โจทก์แบ่งสินสมรสให้จำเลยกึ่งหนึ่ง 500,000,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหาย 300,000,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันเนื่องจากเหตุทั้งสองฝ่ายสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาเกิน 3 ปี
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางสาว ล. เข้ามาเป็นจำเลยฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนางสาว ล. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม (จำเลยฟ้องแย้ง) ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งและถือว่าจำเลยทิ้งฟ้องแย้งเฉพาะในประเด็นเรื่องขอแบ่งสินสมรสและค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายในกำหนดและโจทก์ไม่ติดใจในคำขอท้ายฟ้องเกี่ยวกับบุตรทั้งสอง
โจทก์ร่วมให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากันและให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยเป็นเงิน 9,596,500 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 51,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 6 กรกฎาคม 2554) เป็นต้นไปจนถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดและให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยอีกเดือนละ 50,000 บาท นับถัดจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่ ให้ยกฟ้องโจทก์กับให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้เรียกนางสาว ล. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคำฟ้องและคำฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลย 3,600,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 6 กรกฎาคม 2554) จนกว่าคดีถึงที่สุด ยกคำขอตามฟ้องแย้งที่ขอค่าเลี้ยงชีพ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ในส่วนคำฟ้องและคำฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2527 มีบุตรด้วยกันสองคน คือ นาย พ. และนางสาว ว.
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพตามสิทธิฟ้องร้องของโจทก์ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันยื่นคำร้องและการยื่นคำฟ้องฉบับเดิมว่าการสมรสเป็นโมฆะเป็นการตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้อง อายุความจึงสะดุดหยุดลง นับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดถึงวันที่โจทก์เสนอคำฟ้องฉบับแก้ไขต่อศาลยังไม่เกินเก้าสิบวัน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่า โจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมและให้การสมรสตกเป็นโมฆะแต่เริ่มแรก เท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้แจ้งชัดว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกินกว่าเก้าสิบวัน นับจากวันที่โจทก์รู้ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 จึงไม่เกิดประเด็นเรื่องอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2548 ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 ในวันไต่สวนคำร้องจำเลยได้นำหลักฐานการจดทะเบียนหย่ามาเป็นพยานหลักฐานในคดี ถือว่าโจทก์ย่อมต้องรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฉ้อฉลนับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์แก้ไขคำฟ้องวันที่ 8 เมษายน 2554 เป็นระยะเวลาเกินกว่าเก้าสิบวัน สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นอันระงับไป จึงฟังได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความและไม่จำต้องวินิจฉัยถึงปัญหาที่ว่าโจทก์สมรสโดยถูกกลฉ้อฉลหรือไม่อีก ที่ศาลล่างพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ เพราะเหตุที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ขณะโจทก์อยู่กินกับโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์ควรได้รับการรับรองคุ้มครองตามคำพิพากษาจึงไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยา เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะแล้ว แต่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไป ทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะกล่าวอ้างถึงการรับรองคุ้มครองตามคำพิพากษาซึ่งไม่มีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยหาได้ไม่ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย ต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยยังคงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ในปี 2550 โจทก์ได้อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทราบเรื่องโจทก์ยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยา จำเลยไม่ฟ้องคดีภายใน 1 ปี คดีขาดอายุความ จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องคดีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาตลอดมา ลักษณะการกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยจึงยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่ โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่อันเป็นเหตุฟ้องหย่า โดยโจทก์เบิกความว่าประมาณเดือนตุลาคม 2538 จำเลยกลับมายังประเทศไทยเพื่อฟ้องโจทก์เกี่ยวกับที่ดินอันเป็นสินสมรสและยังมีเรื่องบาดหมางกับโจทก์อย่างรุนแรงโดยจำเลยแจ้งความเท็จกล่าวหาว่าบิดาโจทก์ใช้ผู้อื่นบุกรุกและลักทรัพย์ในเคหสถาน คดีดังกล่าวจำเลยได้รับเงิน 11,300,000 บาท จากผู้รับโอนที่ดินแต่กลับผลักภาระให้โจทก์รับผิดในหนี้ภาษีอากร ทั้งยังแจ้งความกล่าวหาโจทก์เป็นคดีอาญาว่าขับรถชนจำเลย ส่วนจำเลยเบิกความว่า โจทก์เป็นคนเจ้าชู้ สำส่อนทางเพศและชอบทำร้ายร่างกายจำเลย เมื่อเมาสุราจนเคยขอแยกทางกันมาก่อน หลังจากจำเลยกลับมายังประเทศไทยเมื่อปลายปี 2538 จำเลยพบว่าโจทก์มีพฤติการณ์ฉ้อฉลเงินค่าเลี้ยงดูและยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินสมรส ซึ่งจำเลยเชื่อว่าโจทก์ร่วมมือกับบิดาและน้องชายของโจทก์ จำเลยจึงฟ้องโจทก์กับน้องชายโจทก์ขอเพิกถอนการโอนที่ดินอันเป็นสินสมรส เมื่อจำเลยได้รับเงินในคดีมาก็มีผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยทำหนังสือถึงกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้พิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาว่าโจทก์เบิกความเท็จ และนำสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยสอดคล้องกันและบ่งชี้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่เหลือเยื่อใยต่อกันทั้งยังกระทำการเป็นปฏิปักษ์กันจนไม่น่าจะอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุขอีกต่อไป โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า มีการแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share